ย้อนกลับไปช่วงปี 2019 เป็นช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนรวมถึงตัวผมเองยังได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวอย่างอิสระ (ไม่เหมือนกับทุกวันนี้ แง) ซึ่งในปีนั้นเอง ผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนอีกหนึ่งประเทศในฝันกับชาวคณะ ประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ตำนาน และอารยธรรมต่าง ๆ มากมายอย่างประเทศ ‘อียิปต์’ (แก๊ง #อียิปต์อีสัส นั่นเองถ้าจำกันได้)
(ภาพด้านขวาโดย หมออุ๋ย ผู้ร่วมคณะ)
พอเราได้ไปที่นั่นจริง ๆ แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่เราวาดฝันไว้นัก เพราะสภาพแวดล้อมโดยรวมของที่นี่แน่นอนว่าร้อนมากกก (ทะเลทรายอะเนอะ) อาหารก็อาจจะรสชาติไม่ได้ถูกปากหลายคนนัก รวมถึงพอเรามองไปทางไหน ก็จะพบกับตึกรามบ้านช่องที่ดูสร้างทิ้งไว้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ซึ่งคุณไกด์ก็แอบบอกเรามาว่าเขาตั้งใจสร้างไม่เสร็จกันเพราะไม่อยากเสียภาษีแพงนั่นเอง
ถึงแม้จะมีบรรยากาศหรือรายละเอียดความวายป่วงที่หากมาเล่าให้ฟังก็คงดูโหดร้าย แต่ก็ยังมีสถานที่หนึ่งที่ยังคงทำให้ผมเองเรียกได้ว่า ทึ่ง!! เมื่อได้เหยียบเข้าไป ณ ที่แห่งนั้น นั่นก็คือ ‘ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย’ หรือ ชื่อสากลที่เรียกว่า Bibliotheca Alexandrina (หรืออีกชื่อคือ Library of Alexandria)
(ภาพโดยคุณตอง @aberabbit ผู้ร่วมคณะ)
โดยความรู้สึกแรกเมื่อได้เข้าไปในสถานที่แห่งนี้คือ “นี่มันไม่ใช่อียิปต์แล้วโว้ยยย นี่มันโลกไหนเนี่ย!!” เพราะพอเราก้าวเข้าไปในห้องสมุดแห่งนี้ มันมีขนาดใหญ่มากกกก โมเดิร์นมากกกก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่อลังการที่สุดในชีวิตที่เราเคยเห็นเลยก็ว่าได้ (ซึ่งดูคอนทราสต์กับพื้นที่ด้านนอกสุด ๆ )
วันนี้ผมเลยขอหยิบยก 4 เรื่องน่ารู้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ๆ ของห้องสมุดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งวิทยาการแห่งแรกของโลก’ แห่งนี้มาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมกันว่าจริง ๆ แล้วสถานที่นี้มีความน่าสนใจอะไรบ้าง ลองมาอ่านกันดูเป็นความรู้รอบตัวได้ฮะ
เรื่องที่ 1: ที่มาของชื่อห้องสมุด ‘อเล็กซานเดรีย’
‘อเล็กซานเดรีย’ คือชื่อของเมืองหลวงในสมัยก่อนของอียิปต์ กล่าวคือเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์ถูกยึดครองโดย ‘พระเจ้าอเล็กซานเดอร์’ (ชื่อเมืองนี้ก็เลยเป็นชื่อของท่านนี่แหละจ้า) ซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของอียิปต์ ติดอยู่กับทะเลเมดิเตอเรเนียน
(ที่มาภาพ: bibloteka.com)
โดยหลังจากนั้น ‘ปโตเลมี’ หรือ คลอเดียส ทอเลเมอุส นักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ชาวกรีกโบราณ ซึ่งกลายมาเป็นกษัตริย์ในยุคต่อมาหลังจากอเล็กซานเดอร์ ก็ได้สร้างห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งนี้ขึ้นมาตามคำแนะนำของ Demetrius Phalaerus เพื่อรวบรวมหนังสือดี ๆ เพราะหากมีหนังสือและความรู้แบบนี้ คนเก่ง ๆ ก็จะต้องมาเมืองนี้อย่างแน่นอน
(ที่มาภาพ: teen.mthai.com)
นี่จึงเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้ปโตเลมีเริ่มรวบรวมหนังสือจากทั่วอียิปต์ กรีก เอเชียไมเนอร์ และยุโรป แบบโหดจัด เท่าที่เห็นข้อมูลมาคือ ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาเมืองนี้จะโดนยึดหนังสือทุกเล่มมาคัดลอก แล้วขอเก็บต้นฉบับเอาไว้ จนมีจำนวนมากถึง 600,000 เล่ม! (ดูเหมือนไม่เยอะแต่น่าจะเยอะมาก ๆ นะในสมัยนั้น)
สรุปสั้น ๆ : ชื่อ ‘ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย’ นี้ก็มาจากชื่อเมืองอเล็กซานเดรียที่กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ยึดมาและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งรวบรวมหนังสือนั่นเอง
เรื่องที่ 2: จุดเปลี่ยนอันหายนะของห้องสมุดแรกของโลก
หลายคนน่าจะเริ่มงง ๆ ว่า เฮ้ยยยย!! ห้องสมุดอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ที่สร้างตั้งแต่ 2 พันกว่าปีก่อน มันอยู่มาถึงวันนี้เลยหรอ! ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่นะฮะ เพราะในสมัยนั้นยังเป็นช่วงที่มีสงครามและการยึดครองเมืองกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ห้องสมุดแห่งนี้ก็ต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่มาก
(ที่มาภาพ: ancientworldmagazine.com)
ในช่วงประมาณ 40 กว่าปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) แห่งอาณาจักรโรมัน ได้ยกกองทัพเข้าโจมตีเพื่อยึดครองอียิปต์ในยุคของคลีโอพัตรา (Cleopatra) แน่นอนว่าไฟคือสิ่งสำคัญในการทำลายล้าง ห้องสมุดขนาดยักษ์ริมทะเลที่สร้างจากไม้เป็นหลัก แถมภายในยังเต็มไปด้วยม้วนกระดาษ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ครั้งยิ่งใหญ่ ก็ย่อมเผาผลาญอารยธรรมความรู้ในห้องสมุดแห่งนี้จนวอดวาย
หลังจากนั้นก็มีการบูรณะห้องสมุดแห่งนี้อีกหลายครั้งโดยครั้งสำคัญคือตอนที่ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งเป็นคนรักหนังสือมาก ๆ ได้บูรณะห้องสมุดแห่งนี้ภายในวิหารเซอราเปียม (Serapeum) โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายพลมาร์ก แอนโธนี ที่จัดหาหนังสือมาเป็นของขวัญให้แก่นางกว่า 200,000 ม้วน มาไว้ในห้องสมุด โดยการปล้นยึดมาจากห้องสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในขณะนั้นซึ่งก็คือ หอสมุดแห่งเพอร์กามอน (Pergamon) นั่นเอง
(ที่มาภาพ: realmofhistory.com และ historyofyesterday.com)
สรุปสั้น ๆ : ด้วยทำเลที่ตั้งของห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งนี้ที่อยู่ติดกับทะเล ทำด้วยไม้ ภายในเต็มไปด้วยเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ทุกครั้งที่เกิดสงคราม ก็จะเกิดเพลิงไหม้และเกิดความเสียหายอย่างหายนะทุกครั้ง รวมถึงครั้งใหญ่สุดในยุคโรมัน นั่นก็คือปี ค.ศ. 391 นั่นเอง
เรื่องที่ 3: โฉมใหม่ของห้องสมุดอเล็กซานเดรีย
หลังจากที่เวลาผ่านไปอีกหลายพันปี แน่นอนว่าพื้นที่แห่งนี้ก็มีนักโบราณคดีขุดพบและทราบถึงประวัติความเป็นมาของห้องสมุดสุดยิ่งใหญ่แห่งนี้มากมาย แต่คนที่คิดให้ฟื้นคืนชีพห้องสมุดนี้อีกครั้งนั่นก็คือนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า Mustafa al-Abbadi
(ที่มาภาพ: dailynewsegypt.com)
โปรเจกต์การฟื้นคืนชีพห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลอียิปต์ รัฐบาลอิรัก และรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ร่วมให้เงินทุนในการสร้างกว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณเกือบ 7 พันล้านบาท!) ซึ่งทาง Unesco ก็เห็นด้วยและให้การสนับสนุนเช่นกัน
นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของการสร้างห้องสมุดอเล็กซานเดรียฉบับโมเดิร์นที่สร้างขึ้นมาใหม่ใกล้กับพื้นที่เดิมตั้งแต่ยุคก่อนคริสตศักราช โดยใช้เวลาการสร้างใหม่นานกว่า 12 ปี จนสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในปี 2002
ส่วนตัวผมเมื่อได้ไปเยี่ยมชมที่นี่ ได้สังเกตเห็นจุดที่น่าสนใจของการออกแบบห้องสมุดอเล็กซานเดรียโฉมใหม่นี้ด้วยอย่างหนึ่ง คือกำแพงภายนอกของห้องสมุดแห่งนี้ เราจะเห็นตัวอักษรของหลากหลายภาษาทั่วโลกสลักอยู่บนหินโดยรอบ ซึ่งเป็นจุดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นแหล่งของความรู้อันหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกอย่างแท้จริง (เหมือนจะมีภาษาไทยด้วยนะ)
สรุปสั้น ๆ : ห้องสมุดอเล็กซานเดรียได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในที่ใกล้ ๆ เดิมตั้งแต่ช่วงประมาณปี 1990 จนเสร็จสิ้นเมื่อปี 2002 โดยได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายประเทศรวมถึง Unesco
เรื่องที่ 4: การเยี่ยมชมห้องสมุดอเล็กซานเดรียในปัจจุบัน
ด้วยความยิ่งใหญ่ไม่แพ้ช่วงหลายพันปีก่อน ห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งนี้ที่ทางรัฐบาลอียิปต์ตั้งใจออกแบบให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ จึงมีหนังสือมากกว่า 8 ล้านเล่ม! วารสารกว่า 4,000 ฉบับ และหนังสือหายากกว่า 50,000 เล่ม พร้อมต้นฉบับตัวเขียน ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นจุดหมายสำคัญที่คนทั่วโลกตั้งใจมาเยี่ยมชม
ห้องสมุดอเล็กซานเดรียจึงเป็นสถานที่ที่มีมาตรการเรื่องความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงมาก อย่างตอนที่ผมและเพื่อน ๆ เข้าเยี่ยมชม จำได้ว่าต้องมีการผ่านด่านตรวจสัมภาระและต้องสแกนร่างกายแบบจริงจังทั้งตอนเข้าและออก (ฟีลเหมือนอยู่สนามบินอะไรประมาณนั้น) ซึ่งหากมีกระเป๋าสัมภาระอะไรก็จำเป็นต้องฝากเอาไว้ที่ด้านนอกก่อนเข้าไป
โดยการเข้าเยี่ยมชมห้องสมุดอเล็กซานเดรียนี้ก็จะมีค่าเข้าที่เราต้องชำระ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของห้องสมุด และส่วนของพิพิธภัณฑ์ โดยจะมีเรทราคาแตกต่างกันไปตามประเภทผู้เข้าเยี่ยมชม เช่น คนอียิปต์ คนต่างชาติ สำหรับนักเรียน หรือมาเป็นกลุ่ม เป็นต้น
ซึ่งในแต่ละวันก็จะมีเวลาเปิดปิดที่แตกต่างกันไป โดยเวลาทำการหลัก ๆ คือ
- วันอาทิตย์-พฤหัสบดี : 10.00-19.00 น.
- วันศุกร์ : 14.00-19.00 น.
- วันเสาร์ : 12.00-16.00 น.
ดูรายละเอียดวันและเวลาเปิดปิดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
สรุปสั้น ๆ : ห้องสมุดแห่งนี้ในปัจจุบันเปิดให้บุคคลทั่วไปทั้งประชาชนชาวอียิปต์ รวมถึงนักท่องเที่ยว สามารถเข้าไปเยี่ยมชม อ่านหนังสือ หรือเดินชมพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว ซึ่งจะมีค่าเข้า และมาตรการความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มข้นทีเดียว
นอกจากข้อมูลน่ารู้ทั้ง 4 เรื่องที่วันนี้ผมขอหยิบยกมาสรุปเล่าให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันแล้ว หากเราได้มีโอกาสศึกษาประวัติความเป็นมาเชิงลึกของห้องสมุดอเล็กซานเดรีย จะยิ่งเข้าใจเลยครับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในโลกของการศึกษาเรียนรู้หลากหลายสาขา และถ้าใครอยากได้เกร็ดความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับห้องสมุดแห่งนี้ ก็ลองเข้าไปอ่านคำถามที่คนเยี่ยมชมเคยสอบถามทางห้องสมุดนี้ไว้ได้ ลองไปอ่าน FAQ ดูเพลิน ๆ กันได้ฮะ บางเรื่องเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจอีกมากเลยทีเดียว (อ่าน FAQ เพิ่มเติมได้ ที่นี่)
หากใครที่มีโอกาสได้ไปประเทศอียิปต์ สถานที่แห่งนี้ก็เป็นที่ที่ผมแนะนำให้ควรไปดูให้เห็นด้วยตากันสักครั้งนะ ความยิ่งใหญ่มันเปรียบเทียบอารมณ์ได้เหมือนกับพีระมิดเลยแหละ (ดูเวอร์ไปไหมนะ 55) อาจจะต้องใช้เวลาเดินทางนิดนึง แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับความอลังการและบรรยากาศที่ได้รับจากสถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน
สำหรับตัวผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ไปอียิปต์อีกไหม แต่ส่วนตัวก็อยากไปดูมิวเซียม The Grand Egyptian Museum แห่งล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2021 นี้อยู่เหมือนกัน ยังไงถ้ามีโอกาสได้ไปไว้จะหยิบเรื่องราวที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันเพิ่มเติมนะครับ
พิสูจน์อักษร: จักรกฤต โยมพยอม
แหล่งข้อมูลเนื้อหา: