ได้ข่าวเรื่องมหาวิทยาลัย Waseda ไฟเขียวให้รีโนเวทอาคารเก่าในแคมปัสเพื่อทำห้องสมุด Haruki Murakami มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แม้จะเป็นแฟนคลับเกรดบีที่ยังอ่านไม่ครบทุกเรื่อง แต่ก็ตื่นเต้นมากกับการจำลองพื้นที่จากโลกแห่งจินตนาการของนักเขียนชื่อดังผู้มีแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์
ตื่นเต้นคูณสอง เมื่อรู้ว่า Kengo Kuma เป็นผู้ออกแบบ แถมระดมบริษัทแถวหน้าของญี่ปุ่นมาร่วมกันสร้างสรรค์ส่วนต่างๆ มากมาย
Kengo ให้สัมภาษณ์กับสื่อของมหาลัยไว้ว่า ตึก 4 เป็นตึกธรรมดา ความธรรมดาเป็นสิ่งที่ทำให้มันเก๋ การค้นพบความเรียบง่ายเป็นธีมสำคัญซึ่งสอดคล้องกับหนังสือของมูราคามิ ฮารุกิ เขาเลยนำสิ่งนั้นมาใช้ในการออกแบบสถานที่และพยายามใส่โลกของมูราคามิลงไปในจุดต่าง ๆ ของการตกแต่งภายในที่สื่อถึงความใจดีของนักเขียนชื่อดัง
Haruki Murakami เป็นศิษย์เก่า ส่วน Kengo Kuma เป็นอาจารย์ สายใยวาเซดะช่างน่าตื่นเต้น
ในฐานะศิษย์น้องและนักเรียนในปัจจุบัน เราจะพาไปสำรวจความใจดีที่ว่าตามจุดสำคัญต่าง ๆ ของห้องสมุดสุดเท่ที่ทั้งสวยและน่าจะถูกใจสายมูแน่นอน
1. The Waseda International House of Literature (aka the Haruki Murakami Library)
สิ่งแรกที่ควรรู้เกี่ยวกับที่นี่คือ ชื่ออย่างเป็นทางการของห้องสมุดนี้คือ The Waseda International House of Literature ส่วน Haruki Murakami Library คือชื่อเล่น คอนเซ็ปต์ของที่นี่คือ Explore your Story, Speak your Heart เน้นการเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ผ่านการอ่าน โดยแบ่งพื้นที่ 3 ชั้นเป็นโซนต่าง ๆ เช่น โซนฟังเพลง, โซนนั่งอ่านหนังสือ, โซนนิทรรศการ, โซนคาเฟ่และโซนวิจัย
ตอนนี้เปิด 10:00-17:00 น. และต้องจองล่วงหน้าเพื่อจำกัดความหนาแน่นและปกป้องความรื่นรมย์ โดยแต่ละรอบรับเพียง 30 คนเท่านั้น
2. ความมู
ห้องสมุดมูราคามิไม่ได้สักแต่เอาผลงานมาวางเรียงกันสวย ๆ แต่เป็นเหมือนการจำลองโลกของเขาขึ้นมาให้แฟน ๆ ได้สัมผัสใกล้ชิดมากขึ้น เฮียเองก็บริจาคของรักสิ่งเลอค่าให้ที่นี่เยอะมาก เช่น หนังสือเกือบ 1,500 เล่มที่แน่นอนว่ามีผลงานตั้งแต่เล่มแรกถึงปัจจุบันครบถ้วน (ที่สำคัญ ส่วนมากเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก แฟนพันธุ์แท้มีมือสั่นน้ำตาไหลแน่นอน), ต้นฉบับนิยายที่เขียนด้วยมือ, หนังสือแปลภาษาต่าง ๆ ซึ่งหนังสือเลอค่าเหล่านี้จะถูกสลับเอาออกมาวางให้อ่านเป็นระยะ แฟน ๆ สามารถแวะมาส่องความ exclusive ได้เรื่อย ๆ
นอกจากนี้ยังบริจาคเครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงเกือบ 400 แผ่น, เฟอร์นิเจอร์วินเทจเก๋ๆ และเก่าแก่ เช่น เปียโนและเก้าอี้จากร้าน Peter Cat คาเฟ่/บาร์แจ๊สที่เฮียเขาเคยเปิดตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ เฟอร์นิเจอร์รุ่น Senator ของ Ole Wancher ที่ฮอตมากในยุค 1940-1960 เหนือสิ่งอื่นใดมีการจำลองห้องทำงานในปัจจุบันของเฮียไว้ด้วย (ห้องนี้ให้ดูได้จากข้างนอกเท่านั้น) บอกตามตรงว่าบรรยากาศเหมือนในห้องสมุดนี้เป๊ะ ราวกับเราได้นั่งอ่านหนังสือในบ้านนักเขียนตัวท็อปเลยทีเดียว
ด้วยความมูอันเข้มข้นเต็มเหนี่ยวนี้ ที่นี่เลยรับบทเป็น international research center สำหรับผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับผลงานของมูราคามิ ฮารุกิ, วรรณกรรมอื่น ๆ และการแปลด้วย น่าจะกลายเป็นศูนย์วิจัยที่ฮิปติดชาร์ตของประเทศเลยนะ
3. ซุ้มโค้งโถงบันได
หลายคนที่เคยได้ผ่านตากับรูปที่นี่แล้ว คงจะชอบคุณซุ้มโค้งตรงบันไดอันแสนอบอุ่นด้วยวัสดุไม้ที่สองฝั่งเป็นชั้นหนังสือสูงจรดเพดานกันแน่ ๆ มุมนี้คือมุมกรุบจุดขายของห้องสมุดแห่งนี้ที่ไม่ได้แค่สวยเฉย ๆ แต่ตั้งใจทำมาให้นั่งอ่านหนังสือจริง ๆ โดยหนังสือที่นำมาจัดบริเวณนี้จะเปลี่ยนธีมไปเรื่อย ๆ ซึ่งธีมในตอนนี้คือ ใดใดที่ให้แรงบันดาลใจผม ที่รวมสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมูราคามิไม่มากก็น้อย
มาดูในแง่ความงามบ้าง ซุ้มโค้งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตโดยช่างจากบ. Kumagai Gumi ซึ่งรับมาหมดแล้วทั้งงานโมเดิร์นและดั้งเดิม ต้นตระกูลผู้ก่อตั้งสืบเชื้อสายมาจากช่างหินโบราณ จึงมั่นใจได้ในความประณีตแบบช่างผู้เข้มงวดสมัยก่อน ไม้แผ่นบางโค้งตัวสวยแต่แข็งแรงด้วยโครงสแตนเลสที่ซ่อนตัวอย่างเงียบ ๆ แทบไม่เห็นรอยต่อ สีสกรูก็ต้องเลือกให้ตรงสีไม้ ขั้นบันไดที่ดูบ๊างบาง ที่จริง ๆ แล้วมีโครงเหล็กซัพพอร์ตเช่นกัน ถ่ายรูปสวย นั่งอ่านหนังสือเพลินได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ที่นี่แอบเติมความสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไปด้วย มองดี ๆ เราจะมีเพื่อนตัวจิ๋วนั่งอ่านหนังสือเป็นเพื่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ มาคนเดียวไม่เหงา มากับเขาไม่ต้องเขิน พาร์ทนี้ได้บ.กราฟิคชื่อดังอย่าง ThereThere มาช่วยออกแบบ
4. อินทีเรียโดยรวม
อีกหนึ่งตัวท็อปวงการที่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้คือ TANSEISHA
ใครที่เคยมาญี่ปุ่นต้องเคยเหยียบหรือใกล้ชิดผลงานของบริษัทนี้แน่นอน เพราะเขาทำมาแล้วแทบทุกแขนง ถนัดการสร้างสเปซเก๋กรุบทั้งโมเดิร์นและวินเทจ ตัวอย่างผลงาน ได้แก่ Miraikan ที่โอไดบะ, Japan Pavilion Expo Milano 2015, สนามบินฮาเนดะ ส่วน International Gate ที่ Terminal 2 และ Food Court ชิคๆ, หอพักนักเขียนชื่อดัง Tokiwaso, Tokyo Metro สถานี Ueno และ Pokemon Center
สำหรับห้องสมุดแห่งนี้ จริง ๆ แล้วใช้ดีไซเนอร์หลายคนในการออกแบบแต่ละมุม TANSEISHA รับหน้าที่ดูแลการตกแต่งภายในโดยรวมให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ Explore your Story, Speak your Heart ให้คนที่เข้ามาอ่านหนังสือรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกเป็นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือมีทั้งแบบโต๊ะกลางสร้างโอกาสมิงเกิลระหว่างกัน แต่ก็มีมุมสงบ เก้าอี้คอกเก็บตัวเหมาะกับการนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ คนเดียว
5. ห้อง audio
นี่คือพื้นที่โปรดของเราในห้องสมุดแห่งนี้
ใคร ๆ ก็รู้ว่ามูราคามิ ฮารุกิหลงใหลเพลงแจ๊ส ว่ากันว่าเขามีแผ่นเสียงสะสมมากกว่า 10,000 แผ่น ซึ่งแน่นอนว่าห้องสมุดแห่งนี้มีห้องออดิโอที่เปิดเพลงที่เลือกมาโดยเฮีย หรือจะพูดให้ถูกก็คือบริจาค CD และเพลย์ลิสต์มาให้มากมาย มีทั้งเพลงแจ๊สและคลาสสิคอื่น ๆ ที่เราสามารถนำหนังสือมานั่งอ่านบนโซฟาสวย ๆ รับแดดอุ่น ๆ แบบเวรี่เจแปนนีสเคล้ากับเสียงดนตรีอันนุ่มนวล มีลำโพงสุดคลาสสิคอย่าง JBL L82 Classic ด้วยนะ (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะรุ่นเดียวกับที่เขาใช้ที่ร้านปีเตอร์แคทสมัยยังไม่สามารถซื้อลำโพงไฮเอนด์)
6. ภายนอก
ไปดูภายนอกกันบ้าง ดีไซน์ด้านนอกล้ำเก๋สมเป็นลายเซ็นของเค็งโกะ สายลมที่โอบล้อมภายนอกอาคารด้วยความอ่อนช้อยทำมาจากแผ่นไม้ที่ยึดบนโครงเหล็กอีกที จุดนี้ใช้ความเชี่ยวชาญของช่างหน้างานเยอะมากเพื่อปรับออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะแบบดั้งเดิมใช้แผ่นไม้หน้ากว้างเท่ากันทั้งหมด ทำให้ไม้ดูจ๋อยแพ้โครงเหล็ก ช่างจึงเสนอให้ใช้ไม้หน้ากว้างต่าง ๆ วางสลับกันเพื่อสร้างไดนามิค โดยใช้ทั้งไม้แผ่นโค้งและแผ่นเรียบผสมกันด้วย เลยออกมาเป็นความโดดเด่นอย่างเป็นธรรมชาติที่ไม่ขโมยซีนอาคารเรียนที่อยู่รอบ ๆ จนมากเกินไป
Landscape ก็ได้รับความใส่ใจอย่างเต็มที่ เน้นปลูกไม้พุ่มหลายชนิดสลับกันเพื่อไม่ให้ความสูงแย่งซีนอุโมงค์ไม้แสนพลิ้ว แถมยังตั้งใจเลือกพันธุ์ที่เปลี่ยนสีตามฤดูกาลเพื่อให้คนชมสวนได้ทุกฤดูด้วย
7. Orange cat café
ขอปิดท้ายด้วยคาเฟ่ที่อยู่ชั้นใต้ดินแต่แสงสว่างส่องถึงชวนให้สดใส
ชื่อของคาเฟ่นี้ได้ไอเดียมาจากร้านปีเตอร์แคท ปีเตอร์คือชื่อแมวที่มูราคามิและภรรยาเลี้ยงไว้ในสมัยนั้นและมันเป็นแมวส้ม คาเฟ่นี้เลยชื่อ Orange cat แม้เจ้าตัวจะไม่ได้กลับมาบริหารเอง แต่เป็นคาเฟ่ที่ทำโดยเด็กมหา’ลัย การพัฒนากาแฟเบลนด์สูตรพิเศษก็พยายามทำให้ใกล้เคียงความชอบของทั้งคู่มากที่สุด ซึ่งได้โรงคั่วของญี่ปุ่นอย่าง horiguchi coffee มาช่วยพัฒนา
ผู้ก่อตั้งบอกว่าตั้งใจให้คาเฟ่ดูโล่ง ๆ เพื่อให้คนที่มาได้เติมเต็มพื้นที่ด้วยเรื่องราวต่าง ๆ และความทรงจำของพวกเขา ส่วนคาเฟ่นั้นจะขอทำหน้าที่เป็นที่คั่นหนังสือของเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตของทุกคน
หวังว่าปีหน้าจะได้มีความทรงจำของแฟนนักอ่านชาวไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในห้องสมุดแห่งนี้ด้วยนะ