ถ้าเคยได้มาเที่ยวฝั่งอังกฤษคงจะพอคุ้นกับภาพคนถือหนังสือเดินไปเดินมา อ่านหนังสือในรถไฟใต้ดิน บนรถประจำทาง ในร้านกาแฟ เขาอ่านกันจริงไหมหรือใช้หนังสือเป็นพร็อปเฉยๆ กันแน่ทำไมเขาถึงได้รักการอ่านกันขนาดนั้นนะ
การปลูกฝังการอ่านของเด็กอังกฤษเริ่มตั้งแต่เกิดที่ห้องสมุดใกล้บ้าน
ทุกเมืองที่นี่มีห้องสมุดค่ะ จะขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและงบประมาณที่ได้รับ ห้องสมุดที่นี่เหมือนกับห้องสมุดที่อื่น จัดแบ่งหนังสือตามประเภท และจัดหมวด “เด็ก” ไว้หนึ่งห้อง ใช่แล้ว หนึ่งห้องเลย! ห้องสมุดเด็กจะเป็นพื้นที่ที่กั้นไว้และตกแต่งเป็นพิเศษสำหรับเด็กโดยเฉพาะ มีของเล่นเงียบ ๆ ตามธีมหนังสือ ตั้งแต่มาทิลดา, แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปจนธีมปราสาทหรืออัศวินต่าง ๆ เก้าอี้จะเป็นเบาะนุ่ม ๆ บางที่ก็จัดเป็นป้อมปราการที่สไลด์ลงมาได้ จะนอนอ่านก็ดี นั่งอ่านก็ได้ แต่ขออย่าเสียงดังก็แล้วกันค่ะ
ทุกสุดสัปดาห์ พ่อแม่ที่นี่จะพาเด็กวัยเตาะแตะมาร่วมกิจกรรม Rhymetime ผู้ช่วยบรรณารักษ์จะนำพ่อแม่ผู้ปกครองร้องเพลงกล่อมเด็ก (nursery rhymes) ที่เราคุ้นหูกันดี เช่น “Wheel on the Bus”, “Head, Shoulders, Knees, and Toes,” หรือ “Twinkle, Twinkle Little Star” เพื่อกระตุ้นสมองและประสาทสัมผัสให้คุ้นชินกับเสียง จังหวะ ทำนอง ก่อนจะเริ่มอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ
กิจกรรมส่งเสริมการอ่านไม่ได้มีสำหรับเด็กเล็กอย่างเดียวนะคะ ห้องสมุดทั่วประเทศยังจัดกิจกรรม Summer Reading Challenge ให้เด็กวัยประถมศึกษามาร่วมสนุกกับการอ่าน สะสมสติกเกอร์ และรับเหรียญทองเมื่อจบกิจกรรมด้วย
อ่านกันต่อในห้องเรียนอนุบาล
เด็กที่นี่เรียนสัทศาสตร์ (Phonics) เมื่อเข้าอนุบาล ครูจะสอนเสียงและการผสมเสียงที่โรงเรียนแล้วส่งหนังสือที่มีเสียงนั้น ๆ ผ่าน ‘book bag’ เพื่อให้เด็กได้อ่านกับผู้ปกครองที่บ้าน ครูที่นี่เข้าใจดีค่ะว่าเด็กแต่ละคนอ่านได้ไม่เท่ากัน บางคนอ่านได้ไวกว่าเพื่อน บางคนอ่านช้ากว่าเพื่อนนิดหน่อย บางคนมีความต้องการพิเศษ ทำให้การอ่านเป็นเหมือนยาขม ครูจะทำแบบประเมินความสามารถในการอ่านตั้งแต่เจอกันในห้องเรียนครั้งแรก ๆ และทำต่อเนื่องทุกเทอมเพื่อให้รู้ว่าเด็กคนดังกล่าวอ่านได้ถึงระดับไหนแล้ว
เมื่อรู้ข้อมูลตรงนี้ก็จะจัดหนังสือให้เหมาะกับระดับพัฒนาการของเด็กได้ดีขึ้น เด็กที่อ่านได้ดีก็จะได้รับการส่งเสริมให้อ่านหนังสือที่ท้าทายขึ้น เด็กที่เพิ่งเริ่มอ่านครูก็จะเสริมกิจกรรมเพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะมากขึ้น เด็กที่มีความต้องการพิเศษก็จะได้รับการสอนเสริมด้านการอ่านโดยใช้สื่อหรือวิธีการที่เหมาะกับเขามากขึ้น
หนังสือสำหรับเด็กอนุบาลจะเน้นเรื่อง social and emotional learning หรือการเรียนรู้ด้านอารมณ์และสังคม เมื่อเทอมก่อนเด็ก ๆ อนุบาลอ่านเรื่อง “Pete the Cat: I Love my White Shoes” เจ้าแมวใส่รองเท้าผ้าใบสีขาวที่เหยียบโน่นเหยียบนี่ไปเรื่อย “โอ้ โนวว พีทย่ำลงไปในกองบลูเบอร์รี รองเท้าเปลี่ยนเป็นสี … น้ำเงิน … แล้วพีทร้องไห้หรือเปล่า …” ครูชวนคุยว่า เราเหยียบอะไรได้อีกบ้างแล้วรองเท้าเราจะเปลี่ยนเป็นสีอะไร (“พีทเหยียบอึ!!”) ถ้าเด็ก ๆ เป็นพีทจะรู้สึกยังไง (“อี๋!!”) แล้วเจ้าแมวพีทสอนอะไรเราบ้าง
เด็กวัยอนุบาลได้เรียน อ่าน เล่น ทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับหนังสือหรือหัวข้อที่เรียนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนขึ้นชั้นที่สูงขึ้นไป
โตมากับหนังสือ
เด็กที่โตมากับห้องเรียนอนุบาลที่เน้นการอ่านก็จะชินกับการนั่งฟังครูอ่านนิทาน เมื่อเข้าชั้นประถมการอ่านก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในแต่ละวันไปแล้วค่ะ ห้องเรียนที่อังกฤษทุกห้องจะมี ‘book corner’ ที่จัดหนังสือตามเนื้อเรื่องที่เรียน เช่น Year 4 เรียนเรื่อง “the Romans” ในห้องเรียนก็จะมีหนังสือที่เกี่ยวกับโรมันโบราณ ทั้งเรื่องจริง (fact) เรื่องแต่ง (fictions) หนังสือภาพ (picture books) นอกจากนี้ก็มีหนังสือของนักเขียนดัง เช่น Shakespeare ฉบับอ่านง่าย Roald Dahl ตลอดจนหนังสือภาพสนุก ๆ
เด็กที่นี่จะถูกสอนว่า เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้วเขาสามารถหยิบหนังสือมาอ่านได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือถ้าขอ ครูก็จะบอกว่า ‘choose a book’ หรือ ‘have a quiet read in the book corner’ การอนุญาตให้อ่านเงียบๆ จึงไม่ได้สอนให้เด็กอ่านฆ่าเวลาเท่านั้น แต่ยังสอนด้วยว่าคนอื่นที่ยังทำงานไม่เสร็จก็มี และเราควรเคารพ (respect) คนอื่นที่กำลังทำงานอยู่ เราทำงานเสร็จเร็วกว่าเพื่อนได้นะ และเราก็ทำอย่างอื่นเงียบ ๆ เพื่อรอเพื่อนได้เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเสร็จพร้อม ๆ กันค่ะ
เล่นมาเหนื่อย ๆ ก็พักฟังครูอ่านหนังสือก่อน
การเล่นเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการในทุก ๆ ด้านของเด็ก ๆ เด็กที่นี่มีเวลาเล่นสั้น ๆ สองช่วง คือ พักช่วงเช้า (morning play) 15 นาที และพักกลางวัน (lunch play) 30 นาที หลังจากพักกลางวัน ครูจะใช้เวลาสิบนาทีอ่านหนังสือให้เด็กฟังค่ะ หนังสือที่อ่านในช่วงเวลานี้จะเรียกว่า ‘class text’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่กำลังเรียนในชั้น หนังสือที่เป็น class text ไม่จำเป็นจะต้องจรรโลงใจเสมอไปและไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนชื่อดัง
นักเขียนหนังสือเด็กในอังกฤษมีให้เลือกหลายคนเลยค่ะ การที่จะเลือกหนังสือแต่ละเล่ม ครูผู้สอนและครูฝ่ายกำหนดหลักสูตรต้องอ่านหนังสือเหล่านั้นก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ จะได้ฟังหรืออ่านหนังสือที่เหมาะ (appropriate) กับหลักสูตรของปีนั้น ๆ และเหมาะกับช่วงวัยของพวกเขา
ช่วงเวลารอยต่อหลังพักเที่ยงไม่ได้เป็นเวลาอ่านออกเสียงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็ก ๆ ผ่อนคลายและเตรียมความพร้อมที่จะเรียนวิชาต่อไปด้วย ครูจะอ่านออกเสียงอีกครั้งช่วงสิบนาทีก่อนผู้ปกครองมารับกลับบ้านค่ะ
การอ่านออกเสียงของครูทำให้เด็กที่อ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ ไม่คล่องหรือยังอ่านไม่ได้ดีได้ “อ่าน” ไปพร้อมเพื่อนผ่านการฟัง และทำให้เด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือที่บ้านได้อ่านไปพร้อมเพื่อนและได้แชร์เรื่องราวในหนังสือด้วยกัน
โรงเรียนที่นี่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กและผู้ปกครองตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าเรียนค่ะ ทำให้ครูรู้พื้นฐานครอบครัว วิถีชีวิต แนวทางการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ครูได้รู้ว่าเด็กคนไหนครอบครัวมีความพร้อมเพียงใด พ่อแม่อ่านหนังสือออกไหม มีเงินซื้อหนังสือหรือไม่ และโรงเรียนจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง โรงเรียนของเราจึงให้ความสำคัญกับการอ่านออกเสียงมากเพราะสำหรับเด็กบางคนแล้วการได้ฟังครูอ่านที่โรงเรียนอาจเป็นครั้งเดียวที่เด็กได้ “อ่าน” ในแต่ละวันก็ได้ค่ะ
จากห้องเรียนสู่ชีวิตประจำวัน
เด็ก ๆ ที่นี่คุ้นชินกับการอ่านหนังสือค่ะ ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะพกพาหนังสือไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ เด็กที่เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือเขาก็อ่านตามไปด้วย ประกอบกับหนังสือที่นี่ไม่ได้แพงจนเข้าถึงไม่ได้เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ ค่าแรงขั้นต่ำที่นี่ชั่วโมงละประมาณ 10 ปอนด์ ผู้ปกครองรายได้น้อยสามารถเข้าร้าน Pound Land เพื่อซื้อหนังสือราคาหนึ่งปอนด์ให้ลูกได้ หรือจะพาเข้าร้านเครื่องเขียน เช่น The Works เพื่อซื้อหนังสือราคาลดพิเศษได้เช่นกัน หนังสือดี ๆ ที่ราคาไม่เกินห้าปอนด์มีให้เลือกเยอะแยะเลยค่ะ นอกจากนี้ยังมีร้าน charity shop ที่รับหนังสือมือสองมาขายในราคาถูกอีกที ผู้เขียนก็ชอบเข้าร้านของมือสองค่ะ วันก่อนเพิ่งได้หนังสือที่ชอบฉบับปกแข็งมาในราคาสามปอนด์เอง หนังสือดี ๆ ราคาไม่แพงทำให้การอ่านเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย
การอ่านเป็นกิจกรรมฆ่าเวลาที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นในระดับที่เล็กที่สุด คือ ครอบครัว และได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังในโรงเรียนและผ่านห้องสมุดในชุมชน
จริงๆ แล้วผู้เขียนตอบไม่ได้หรอกว่าคนที่นี่รักการอ่านจริงไหม แต่ยืนยันได้ว่าหนังสือเป็นสิ่งหนึ่งที่คนอังกฤษพกติดตัวไปด้วยเสมอโดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทาง (commute) นอกเหนือไปจากโทรศัพท์และของจำเป็นอื่น ๆ ค่ะ
ตอนนี้ผู้อ่านพกหนังสืออะไรติดตัวหรือเปล่าคะ