สำหรับสายนักอ่านอย่างน้อนโด้นั้น เมื่อเห็นหน้าปกหนังสือเล่มไหนมีคำว่า ‘ซีไรต์’ แปะอยู่ หัวใจมันก็ตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ อยากอ่านหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาแบบไม่รู้สาเหตุ! อาจเป็นเพราะซีไรต์ เป็นเหมือนเครื่องหมายที่การันตีได้ว่าหนังสือเล่มนี้ อัดแน่นไปด้วยคุณภาพของเนื้อหาที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านอย่างเราได้
แต่นอกจากเป็นสัญลักษณ์แสดงความดีงามของหนังสือแล้ว ‘ซีไรต์’ ยังมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ซ่อนอยู่ วันนี้น้อนโด้จะขอไปรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรางวัลอันทรงเกียรตินี้มาฝาก! ถ้าพร้อมแล้ว ก็ตามไปอ่านข้อมูลดี ๆ กันได้เลยงับ~
1. รางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนชาวอาเซียนเพียง 10 ประเทศเท่านั้น
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า S.E.A. Write ย่อมาจาก South East Asian Writers Awards หรือในวงการวรรณกรรมไทยจะเรียกว่า “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน”
ซึ่งจะมอบรางวัลให้แก่นักเขียนเฉพาะใน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และ เวียดนามเท่านั้น ถ้าเป็นผลงานเขียนที่มาจากประเทศนอกเหนือจากนี้ ทางซีไรต์ไม่รับจ้า
2. เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2522 โดยฝ่ายบริหารของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
เห็นเป็นการจัดงานประกาศรางวัลเกี่ยวหนังสือแบบนี้ ใครจะรู้ว่าที่จริงซีไรต์เริ่มต้นจาก ฝ่ายบริหารของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2522
สำหรับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ นั้นได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมที่เกี่ยวข้องกับแวดวงวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน ถึงขนาดมีการตั้งชื่ออาคารเก่าแก่ของโรงแรมว่า “Authors’ Wing” หรือ “ปีกของนักเขียน” เลยทีเดียว นอกจากนั้นภายในโรงแรมยังมีห้องพักชุดพิเศษที่ใช้ชื่อนักเขียนคนสำคัญที่เคยมาพักอีกด้วย
ด้วยความที่โรงแรมเองก็อยู่ในแวดวงวรรณกรรมมาพอสมควร ทางฝ่ายบริหาร จึงได้ร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ อย่าง การบินไทย และกลุ่มบริษัทในเครืออิตัลไทย จัดตั้งรางวัลรรณกรรมนี้ขึ้นมา
3. ตัดสินอย่างเข้มงวด โดยคณะกรรมการทั้งหมด 2 ชุด
อีกหนึ่งเรื่องที่คนนอกวงการอาจจะไม่รู้ก็คือ ซีไรต์มีคณะกรรมการ 2 ชุด! โดยแบ่งเป็นรอบคัดเลือก และรอบตัดสิน
คณะกรรมการรอบคัดเลือก มีจำนวน 7 คน โดยจะเป็นผู้ที่อยู่ในวงการวรรณกรรมของประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะคัดเลือกหนังสือให้เหลืออย่างน้อย 7 เล่ม แต่ไม่เกิน 10 เล่ม เพื่อเข้าสู่รอบตัดสิน
ส่วนคณะกรรมรอบตัดสิน มีจำนวน 7 คน เป็นนายกสมาคมในแวดวงวรรณกรรม, นักเขียนผู้ทรงเกียรติคุณ และประธานคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งจะเลือกหนังสือเพียง 1 เล่มในแต่ละหมวดเท่านั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์
4. นวนิยายซีไรต์เรื่องแรกของไทยคือ “ลูกอีสาน”
ในปี พ.ศ. 2522 ที่เริ่มต้นจัดงานประกวดซีไรต์ขึ้นนั้น นวนิยายที่ได้รับรางวัลซีไรต์เรื่องแรกของไทย ก็คือ “ลูกอีสาน” ซึ่งแต่งโดยคุณคำพูน บุญทวี
เนื้อเรื่องของลูกอีสานเป็นการสะท้อนภาพชีวิตของชาวอีสาน ผ่านความแร้นแค้นที่พวกเขาต้องพบเจอ โดยใช้ลักษณะการบรรยายในเชิงสารคดีชีวิต ผสมนวนิยาย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปกับตัวละคร และรู้สึกอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม
ใครที่ยังไม่เคยอ่าน สามารถไปหยิบยืมได้ตามห้องสมุดทั่วประเทศเลยงับ!
5. ปี 64 มีนิยายวายส่งเข้าประกวดเยอะที่สุด
ในปี พ.ศ. 2564 นี้เอง ก็เป็นอีกปีที่มีการจัดงานซีไรต์ขึ้นมา แม้สำนักพิมพ์หลาย ๆ แห่งจะโดนผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่งานเขียนที่มีคุณภาพ ก็ยังถูกผลิตออกมามากมาย
โดยคุณสกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2564 ได้กล่าวเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ของ Sarakadee Lite ว่า “ปี 2564 นี้ เป็นปีที่มีนิยายวาย หรือชายรักชาย ส่งเข้ามาประกวดเยอะที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทยที่กำลังเริ่มเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่มากขึ้น”
เราก็ได้แต่จับตามองกันต่อไปนะงับ ว่าจะมีนิยายวายดี ๆ เล่มไหน ได้รางวัลติดไม้ติดมือไปบ้าง
จบไปแล้วกับ 5 สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับ ‘ซีไรต์’ ซึ่งน้อนโด้เอง พอได้รวบรวมข้อมูลและอ่านเพิ่มเติมดูแล้ว บอกเลยว่ารู้สึกขนลุกกับความทรงเกียรติของรางวัลนี้มาก ๆ เพราะด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน การประกวดและคณะกรรมการที่เข้มงวด ไปจนถึงรายชื่อหนังสือซีไรต์ดี ๆ แต่ละปีที่ไม่มีเล่มไหนค้านสายตาเลยสักนิด ล้วนพิสูจน์แล้วว่านี่ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติของวงการวรรณกรรมไทยจริง ๆ
สำหรับใครที่รอติดตามรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ก็อดใจรอกันก่อนนะงับ เพราะตอนนี้ทางกรรมการได้รายชื่อ 10 หนังสือผู้เข้ารอบมาแล้ว! ถ้าใครอยากรู้ก็ตามไปอ่านกันได้ที่ https://bit.ly/3DlzpoJ เลยจ้า น้อนโด้รวบรวมไว้ให้แล้วงับบ