AVOCADO BOOKS

BLOG: Highlight, Readers

มาดูผีเสื้อที่ห้องเราไหม…

03.07.2021

มาดูผีเสื้อที่ห้องเราไหม

เรื่องและภาพโดย มาเรียม เกรย์

ฉันอยู่ในคอนโดเล็ก ๆ หนึ่งห้องนอน สิ่งที่สองที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของคอนโดเล็ก ๆ แห่งนี้รองจากเสื้อผ้าคือหนังสือของฉันเอง หลายวันที่ผ่านมาฉันวุ่นกับการจัดระเบียบสิ่งของต่าง ๆ เพราะฉันได้เช่าห้องเก็บของเล็ก ๆ ไว้ กำลังจะย้ายข้าวของบางส่วนไปเก็บไว้ที่นั่น รวมถึงหนังสือเหล่านี้ด้วย ฉันค่อย ๆ เลือกเก็บลงกล่องแต่กลายเป็นว่าใช้เวลานานกว่าที่ฉันคิด เพราะหลาย ๆ เล่มฉันก็กลับมาเริ่มอ่านมันอีกครั้งหนึ่ง ฉันหยิบที่คั่นหนังสือกลิ่นวานิลลามาทำสัญลักษณ์เอาไว้ ก่อนที่ฉันจะพาทุก ๆ คนไปดูผีเสื้อที่ห้องของฉันเอง

ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก หนึ่งในสิ่งที่ฉันชอบทำมากที่สุดรองจากการเล่นขายของ คือการอ่านหนังสือ หนังสือที่ฉันมีมักจะมาจากต่างประเทศและเป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น The Wizard of Oz, Daddy-Long-Legs ที่หัวเตียงของฉันในวัยเด็กมีที่กั้นหนังสือและนิตยสารสีพาสเทลที่ชื่อ Reader’s Digest ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีฉบับภาษาไทย เล่มค่อนข้างใหญ่ ซึ่งพ่อของฉันสมัครสมาชิกไว้ที่ไหนสักแห่ง

ตอนนั้นฉันรู้แค่เพียงว่าทุก ๆ เดือนหรือสองเดือนจะมีหนังสือพวกนี้มาส่งที่หน้าบ้าน บางครั้งหนึ่งเล่ม บางครั้งหายไปหลายเดือน แล้วมาส่งพร้อม ๆ กันหลายเล่มในสภาพห่อไปรษณีย์ที่ยับเยิน เพราะในสมัยนั้นการส่งพัสดุระหว่างประเทศยังคงใช้เวลานาน แต่ฉันจะตื่นเต้นทุกครั้งที่มันมาถึง เพราะจะได้อ่านเรื่องราวใหม่ ๆ เสียที ส่วนหนังสือภาษาไทยที่มีอยู่ในบ้านนั้นมักจะเป็นหนังสือเรียน ต่วยตูน ขายหัวเราะ-มหาสนุก วรรณกรรมไทยและหนังสือนิทานอีสป และนิทานต่าง ๆ ที่แม่ของฉันซื้อมาอ่านให้ฉันฟัง หรือให้ฉันอ่านเองในบางโอกาส รวมถึงนิตยสารอย่าง สวนเด็ก ที่แม่จะซื้อมาให้ทุกครั้งที่ออกเล่มใหม่

ที่ฉันเลือกเองมักจะเป็นนิยายแปลสืบสวนของ อากาธา คริสตี้ และพวกอาถรรพ์คำสาปฟาโรห์ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะเกินวัยของฉันไปมาก ยายของฉันเองก็เป็นนักอ่านตัวยง ยายจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน หยิบหนังสือทุกเล่มขึ้นมาอ่านออกเสียง ถ้าอ่านครบหมดแล้ว ยายจะเริ่มอ่านฉลากต่าง ๆ จนไปถึงขวดแชมพู ยายจึงมักซื้อหนังสือติดมือเข้ามาอยู่เสมอ

เมื่อปี พ.ศ.2534 มีห้างใหญ่มาเปิดใกล้บ้าน แต่ฉันไปที่นั่นไม่บ่อยนัก จนประมาณสี่ปีถัดมา ฉันถึงเพิ่งค้นพบว่าที่ชั้นใต้ดินของห้างนั้นมีร้านหนังสือที่ใหญ่มากตั้งอยู่ ในยุคนั้นฉันไม่เคยเห็นร้านหนังสือที่ใหญ่ขนาดนั้น จึงลองเข้าไปดู จนมาหยุดที่ป้าย “วรรณกรรมแปล” นั่นคือครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักกับ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ฉันซื้อมาอ่าน ฉันเลือกมันเพราะฉันคุ้นเคยกับชื่อของมัน ‘คุณพ่อขายาว’ ฉันเดาว่ามันน่าจะเป็นเรื่อง Daddy Long-Legs ของ จีน เว็บสเตอร์ ที่ฉันเคยอ่านแน่ ๆ เมื่อกลับถึงบ้าน ฉันทิ้งตัวลงบนเตียง แล้วค่อย ๆ เปิดอ่านทีละหน้า กระดาษที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อใช้ในตอนนั้นมันไม่เหมือนกับหนังสือใด ๆ ที่ฉันเคยซื้อมาก่อน กระดาษลื่นละเอียดเป็นสีขาวงาช้าง ฉันก้มลงดมหนังสือเล่มใหม่อย่างตื่นเต้น เมื่อสำรวจดูชัด ๆ พบว่าหนังสือเล่มนั้นรังสรรขึ้นอย่างปรานีตสวยงาม  แต่ปัจจุบันเหมือนว่าทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อจะไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์คุณพ่อขายาวแล้ว แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ ให้เลือกอีกมากมาย

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

หลายคนที่รู้จักฉันดีจะรู้ว่าฉันหลงใหลในวรรณกรรมญี่ปุ่นมาก ที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นก็มาจากหนังสือเล่มที่สองของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ฉันได้อ่าน นั่นคือ ‘โต๊ะโต๊ะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’  โดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ในภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งที่บอกว่า ‘Don’t judge a book by its cover.’ แต่วันที่ฉันเจอหนังสือเรื่องนี้นั่นคือสิ่งที่ฉันทำ ฉันถูกปกสีชมพูโดดเด่นและภาพวาดของเด็กหญิงที่น่ารักบนปกดึงดูดให้ฉันเลือกมันขึ้นมา และฉันก็ดีใจเหลือเกินที่ได้พบกับหนังสือเรื่องนี้ “โต๊ะโตะจัง” เป็นหนังสือที่มีส่วนทำให้ฉันเป็นฉันในวันนี้

การที่ได้อ่านโต๊ะโตะจัง ในวัยที่เริ่มจะเข้าสู่วัยรุ่น (ตอนนั้นฉันอายุ 13 ปี) ได้สอนอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับฉัน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเป็นตัวของตัวเอง ความมีน้ำใจ ทุกอย่างรวมอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ รวมไปถึงคำแปลโดยอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต ด้วยภาษาไทยที่อ่านได้อย่างเข้าใจง่ายและสวยงาม

ฉันเคยซื้อวรรณกรรมเรื่องนี้ 10 เล่มเพื่อนำไปแจก เพราะฉันรู้สึกว่าทุกคนควรที่จะได้อ่านหนังสือดี ๆ เช่นนี้ หนังสือเล่มนี้ยังเป็นเล่มเดียวที่ฉันนำติดตัวไปด้วยเมื่อครั้งที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ฉันหยิบมันขึ้นมาอ่านอยู่เรื่อย ๆ เป็นการทบทวนภาษาไทยไปในตัว ฉันไม่อยากจะเขียนถึงเรื่องราวในหนังสือมากนัก อยากให้ทุกคนได้ลองอ่านด้วยตัวเอง และฉันเชื่อว่าจะตกหลุมรักหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน

บันทึกส่วนตัว ‘ซายูริ’

ฉันจำได้ว่าเมื่อนานแล้ว สำนักพิมพ์ผีเสื้อได้ผลิตสมุดบันทึกไร้เส้นออกมาจำหน่าย ‘ข เขียนความคิด’ ‘ค ความในใจ’ และยังมีตัวอักษรอื่นฉันเองก็จำไม่ค่อยได้ แต่หนังสือเหล่านั้นมีปกที่สวยงาม ฉันซื้อมาไว้จดบันทึกความคิดต่าง ๆ ของตัวฉันเอง รวมถึงเขียนเป็นของขวัญวันเกิดให้กับพี่บอย โกสิยพงษ์ ไม่แน่ใจว่าพี่บอยยังมีเก็บไว้อยู่หรือเปล่า แต่คิดว่ามันน่าจะหายไปตามกาลเวลา

ปัจจุบันนี้ฉันได้รู้ว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อสนับสนุนให้เยาวชนเขียนบันทึกด้วยลายมือ แล้วนำมาตีพิมพ์ ฉันมีโอกาสได้อ่านเล่มหนึ่งคือ ‘บันทึกส่วนตัว ซายูริ’ สมุดบันทึกของเธอนั้นเขียนด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายและจริงใจ อ่านแล้วนึกถึงตัวฉันเองเมื่อตอนเป็นเด็ก ฉันสัมผัสได้ถึงความสุข ความเศร้า ความรัก ความเป็นห่วงที่บริสุทธิ์ ฉันรู้สึกว่าบางครั้งการย้อนกลับไปอ่านอะไรแบบนี้มันช่วยรีเซตตัวเราจากโลกภายนอกที่วุ่นวายได้เหมือนกันนะ

ปรัชญาชีวิต

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก มีเพลงไทยเพลงหนึ่งพูดถึงการให้ที่ว่างแก่ความรัก ‘ให้รักเป็นสายลมผ่านระหว่างเรา’ คือท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงนี้ ไม่นานหลังจากนั้นฉันก็มีโอกาสได้รู้จักศิลปินที่ร้องเพลงนี้ นั่นคือพี่โจ้ วงพอส เขาเล่าให้ฉันฟังว่ามือกีตาร์ของวงพอส คือพี่เอ ได้เขียนเพลงนี้จากกวีบทหนึ่งของคาลิล ยิบราน ตอนนั้นฉันยังอายุไม่มากนัก น่าจะราว ๆ 15-16 ปี ยังอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่เดินทางกลับมาเมืองไทยบ้างในช่วงปิดเทอม ฉันจำชื่อคาลิล ยิบรานไว้ และเมื่อกลับไปถึงออสเตรเลีย ฉันก็รีบเดินไปร้านหนังสือใกล้บ้าน ฉันไม่รู้ว่าบทกวีนั้นมาจากหนังสือเรื่องอะไร รู้เพียงแค่ว่าฉันต้องอ่าน คาลิล ยิบราน

ฉันเลือก “The Prophet” ซึ่งเล่าถึงนักปรัชญาที่กำลังจะขึ้นเรือเพื่อเดินทางกลับไปยังเกาะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด แต่ก่อนจะออกเดินทาง เขาได้สอนบางอย่างให้กับชาวเมือง หนังสือเล่มนี้ลึกซึ้งและสุขุม ฉันหยิบมันขึ้นมาอ่านอยู่บ่อย ๆ และความหมายของมันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและอายุของฉัน ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น

กระทั่งปี 2554 ฉันตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย ถึงตอนนั้นในมหานครมีห้างใหม่ใหญ่ ๆ ขึ้นมามากมาย ร้านหนังสือใหญ่ขึ้นกว่าที่ฉันเคยเห็นที่ห้างใหญ่ใกล้บ้าน รวมหนังสือหลากหลายภาษาและน่าสนใจ สำนักพิมพ์ไทยเกิดขึ้นใหม่มากมาย ฉันพลันคิดว่า “สำนักพิมพ์ผีเสื้อยังอยู่หรือเปล่านะ” ฉันกวาดตามองในโซนหนังสือภาษาไทย แล้วก็พบหนังสือแปลจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อมากมาย และสะดุดตากับหนังสือปกแข็งเล่มเล็ก “ปรัชญาชีวิต โดย คาลิล ยิบราน” ฉันรีบหยิบขึ้นมาจ่ายเงิน และอ่านทันทีเมื่อถึงบ้าน

ยิ่งเมื่อได้อ่านประวัติการแปลของศาสตราจารย์ดร.ระวี ภาวิไล ฉันยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้ถูกแปลจาก The Prophet เล่มเดียวที่มีในห้องสมุดในประเทศไทย ผู้แปลคัดลอกลงในสมุดปกแข็งด้วยลายมือของตนเอง และค่อย ๆ แปลเมื่อมีถ้อยคำภาษาอังกฤษผุดขึ้นมาในความคิด และเมื่อได้อ่านฉบับภาษาไทยก็ได้รู้ว่าพี่เอ วงพอส ได้แรงบันดาลใจมาจาก หัวข้อ ‘การแต่งงาน’ ในหนังสือเล่มนี้นั่นเอง หนังสือเล่มนี้เป็นมากกว่าบทกวี แต่คือดนตรีที่เสนาะแก่ผู้อ่าน

‘และขอให้กระแสลมแห่งสวรรค์โบกไปมาระหว่างเธอ’

เด็กหญิงอีดะ

อีกหนึ่งวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ฉันตกหลุมรักคือ “เด็กหญิงอีดะ” (เดิมทีชื่อว่า เก้าอี้กับเด็กหญิงอีดะ) โดย มัตสุทานิ มิโยโกะ แปลไทยโดยอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนักแต่ชวนติดตาม ผู้เขียนสามารถเอาประวัติศาสตร์ที่มืดมนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่น มารวมกับเรื่องราวในจินตนาการที่ชวนใจสลาย ระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ฉันร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่หลายครั้ง ฉันอ่านจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ติดตามเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่วางหนังสือลงเลย

ฉันเป็นคนที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อนข้างเยอะ ผ่านการอ่านหนังสือ ดูสารคดี และดูภาพยนตร์ ทั้งที่เป็นเรื่องจริง และเรื่องที่แต่งขึ้นมา ฉันสามารถพูดได้ว่า ระหว่างที่คุณมัตสึทานิบรรยายเหตุการณ์ในหนังสือ ฉันถึงกับต้องกลั้นหายใจ ฉันไม่สามารถเล่าตรงนี้ได้ว่ามีรายละเอียดอะไรบ้าง โดยที่ไม่เผยเนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ มันคือเรื่องของผลกระทบจากสงคราม ความทรงจำ และการเชื่อมต่อของกาลเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้เชื่อมโยงกันได้อย่างน่าติดตาม

ครั้งแรกที่ได้อ่าน ฉันแอบตกใจเล็กน้อยว่านี่คือวรรณกรรมเยาวชน ไยเนื้อหาบางส่วนค่อนข้างหม่นหมอง และบีบหัวใจเหลือเกิน แต่พอมาคิดอีกที เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดนี้ทางใดทางหนึ่ง และนี่อาจจะเป็นวิธีหนึ่งของจุดเริ่มต้นในการเล่าถึงเหตุการณ์ที่โหดร้ายให้เด็ก ๆ รับรู้ก็เป็นได้

บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์

สมัยเรียนมัธยมที่ออสเตรเลีย ฉันชอบเข้าไปเลือกหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียน บางครั้งฉันเลือกจากการส่องดูใบยืม-คืนหนังสือ ฉันเห็นว่ารุ่นพี่คนหนึ่งเพิ่งเซ็นคืนหนังสือเรื่อง “Anne Frank: The Diary of a young girl” และก็จำได้ทันทีว่าฉันเคยดูสารคดีที่พูดถึงเรื่องนี้ ฉันรีบหาดูว่าหนังสืออยู่ตรงไหนแล้วก็รีบยืมมาอ่าน ตอนนั้นเป็นช่วงพักเที่ยง ฉันจึงไปนั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงบันไดด้านข้างตึกที่ไม่ค่อยมีใครใช้เข้าออกนัก ฉันเริ่มอ่านได้ไม่นานก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งเดินเข้ามาทัก

“คุณอ่านอะไรอยู่น่ะ”

ฉันเอานิ้วคั่นไว้ ก่อนที่จะปิดหนังสือให้เธอดูปก

“ฉันเคยอ่านเมื่อปีที่แล้ว มันน่าเศร้าและหดหู่มาก ฉันไม่กวนแล้ว ขอตัวก่อนนะคะ”

ฉันยิ้มพยักหน้า เมื่อเธอลับตาไปฉันจึงเริ่มอ่านต่อ จริงอย่างที่เธอว่า มันช่างน่าเศร้าเสียจริง ๆ ฉันอ่านอยู่หลายวันเนื่องจากต้องพักร้องไห้

หลายปีผ่านไปเมื่อฉันมาอยู่เมืองไทย ฉันบังเอิญได้รู้ว่า “สำนักพิมพ์ผีเสื้อ” คือผู้ตีพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ฉบับภาษาไทย แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นหนังสือขาดตลาด ฉันหาซื้อที่ไหนไม่ได้เลย บางคนบอกว่าน่าจะเลิกตีพิมพ์ไปแล้ว แต่ฉันคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลิกตีพิมพ์หนังสือดี ๆ แบบนี้ จนในที่สุด หลายปีผ่านไปสำนักพิมพ์ผีเสื้อก็ตีพิมพ์ “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” ทั้งปกแข็งขอบทองสวยงาม และปกอ่อน ฉันซื้อไว้ทั้งสองแบบ แถมยังซื้อให้เพื่อน ๆ อีกสองสามคนด้วย และถ้าจำไม่ผิด ฉันก็ซื้อแจกอีกเช่นกัน

บันทึกเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ทุกคนควรได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ครั้งแรกที่ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ฉันอายุเท่ากับแอนน์ตอนที่เธอจากโลกนี้ไป ตอนนี้ฉันเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุเกือบจะ 40 ปีแล้ว แต่แอนน์ แฟรงค์ เธอจะอายุ 16 ตลอดไป

ครูไหวใจร้าย

อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันประทับใจเกี่ยวกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อคือความใส่ใจรายละเอียด นอกจากเนื้อหาแล้วยังรวมไปถึงรูปเล่มด้วย สำนักพิมพ์ผีเสื้อเคยรวมเอาหัตถกรรมและวรรณกรรมเอาไว้ในการทำปกหนังสือเรื่อง “ครูไหวใจร้าย” ด้วยการปักมือ แต่ละเล่มแตกต่างกันไป แต่ทุกเล่มล้วนถูกปักด้วยความตั้งใจของผู้ปัก และการรออย่างใจจดใจจ่อของผู้อ่าน ฉันรอที่จะได้รับหนังสือนั้นนานพอสมควร เนื่องจากทางสำนักพิมพ์ต้องจัดนิทรรศการก่อนที่จะส่งหนังสือเหล่านั้นถึงมือเจ้าของ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเราจะได้ของใคร จะรู้ก็ต่อเมื่อหนังสือมาถึงมือเราเรียบร้อยแล้ว

‘ครูไหวใจร้าย’ มาถึงฉันในกล่องรูปผีเสื้อสวยงาม ด้านในมีโปสการ์ด ที่คั่นหนังสือ สมุดบันทึก และหนังสือครูไหวใจร้ายสองเล่ม เล่มหนึ่งคือปกอ่อนที่ทำจากรูปของลายปัก อีกเล่มหนึ่งคืองานปักมือที่มีเพียง 500 เล่มในโลก แต่ละเล่มไม่ซ้ำกัน เพราะฉะนั้นเล่มของฉันคือหนึ่งเดียวในโลก ‘กาญจน์’ คือผู้ปักหนังสือเล่มนี้ให้ฉัน

ส่วนเรื่องราวในหนังสือเรื่องนี้ ฉันเชื่อว่าในวัยเด็กหลาย ๆ คนน่าจะมีครูหนึ่งท่านที่ทุกคนเรียกว่า ‘ครูไหวใจร้าย’ แต่น้อยคนที่จะได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังของครูไหวใจร้ายเหล่านั้น เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในชีวิตเขาได้เจออะไรมาบ้าง ‘ครูไหวใจร้าย’ คือนวนิยายที่เป็นตัวแทนของเรื่องราวเหล่านั้น และเป็นเรื่องที่หลายคนรู้จักแต่ไม่เคยได้ลองอ่าน

ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ

ฉันรู้จักหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Diving bell and Butterfly สมัยนั้นฉันยังทำงานอยู่ที่โรงภาพยนตร์ในออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของห้างแคนเบอร์รา เซนเตอร์ ซึ่งถ้าลงบันได้เลื่อนลงมาหนึ่งชั้นจะพบกับร้านหนังสือร้านใหญ่ที่ฉันมักจะเข้าไปหลังเลิกงานถ้าทำกะเช้า และฉันก็ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ทันทีหลังจากที่ได้ดูภาพยนตร์ 

ฌ็อง-โดมินิก โบบี้เขียนเรื่องนี้จากการกะพริบตากว่าสองแสนครั้ง เป็นเรื่องราวชีวิตจากจุดสูงสุดจากบรรณาธิการนิตยสาร Elle ของฝรั่งเศส สู่ผู้ป่วย lock-in syndrome ที่ไม่ยอมแพ้ ในหนังสือเล่มนี้ เขาได้เปรียบเทียบว่าร่างกายของเขาคือชุดประดาน้ำที่หนัก ไม่สามารถขยับส่วนใดได้นอกจากกะพริบตา แต่สมองของเขายังโลดแล่นดั่งผีเสื้อ เมื่อฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ตระหนักว่าชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน และเป็นอีกหนึ่งเล่มที่ฉันซื้อฉบับแปลภาษาไทยมาอ่านทันทีเมื่อรู้ว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อคือผู้แปลหนังสือเล่มนี้

ดู “ผีเสื้อ” ในห้องฉันกันมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะเดาได้ไม่ยากว่าฉันคือหนึ่งในแฟนคลับตัวยงของสำนักพิมพ์นี้ นอกจากหนังสือที่ฉันเขียนถึงไปแล้ว ยังมีหนังสือน่าสนใจอีกมากมายทั้งหนังสือไทย และวรรณกรรมแปลจากหลากหลายภาษา เช่น จะเล่าให้คุณฟัง และ จะเล่าเป็นเพื่อนคุณ เรื่องเล่าที่อยู่ในเรื่องเล่า วรรณกรรมของ โรอัลด์ ดาห์ล ที่ฉันเคยอ่านในวัยเด็ก จนไปถึง ตำนานแห่งนาร์เนีย

ฉันจัดหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อขึ้นชั้นวาง หนังสือเหล่านี้ฉันเก็บไว้ใกล้ ๆ ตัวตลอด และหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีเบื่อ อยากให้ทุกคนมาดูผีเสื้อด้วยกันจัง

‘คุณครูโคบายาชิคิดว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลกคือ มีตาแต่ไม่รู้จักมองดูสิ่งสวยงาม มีหูแต่ไม่ฟังเพลง มีหัวใจแต่ไม่รู้ความจริงไร้ความรู้สึก และไม่กระตือรือร้น…’


พิสูจน์อักษร: จักรกฤต โยมพยอม

STORY BY :