ณ วินาทีที่ภาพยนตร์สั้นประกอบเพลง “LALISA” (อยู่ ๆ ก็อยากจะเรียก MV แบบเวอร์ๆ ซะงั้น) เปิดตัวเพลงแรกจากอัลบั้มเดี่ยวของ Lisa BLACKPINK (aka นุ้งลิซ่า) ศิลปินเกาหลีเชื้อชาติไทย ความภาคภูมิใจแบบไม่ต้องรอเวลาโฆษณาหลังสี่ทุ่ม ทำสถิติยอดรับชมกว่า 100 ล้านวิวไปเป็นที่เรียบร้อยภายในสองวัน โลกโซเชียลมีเดียของไทยก็ถูกเขย่าด้วยประเด็นต่าง ๆ นานา จากการล้วงแคะแกะเกา ตีความ MV มีทั้งเรื่อง นัยแฝงทางการเมืองหรือเปล่า วงการศิลปะเมืองไทยไปถึงไหน ทำไมศิลปินเชื้อชาติไทยเก่ง ๆ ถึงต้องไปเติบโตในร่มเงาเกาหลี เป็นอาทิ
แต่ที่สื่อออนไลน์แทบทุกหัว เพจวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และวงการแฟชั่นพุ่งประเด็นให้ความสนใจนั่นคือช่วงหนึ่งของ MV ได้ปรากฏภาพศิลปินใน “ชุดไทยใส่ศิราภรณ์” เป็นที่ฮือฮาจนเกิดกระแสขุดภาพตัวเองใส่เครื่องหัวมาเล่นสนุก บ้างชื่นชม บ้างไม่ชอบ บ้างก็บอกจะไปเอาอะไรนักหนา เรียกได้ว่าเครื่องหัวของ Lisa กลายเป็นเรื่องหนักหัวของหลายท่านไปได้
เอาเป็นว่าเราก็ขอ “โหน LISA” อย่างใครเขากันบ้าง (อื้อ โหนก็บอกว่าโหน!) แต่ No จ้า เราจะไม่ยอมใครมาว่าเราโหน LISA อย่างหน้าไม่อาย เพราะวันนี้เราจะชวนทุกท่านมาตั้งโจทย์จาก “เครื่องหัวใน LALISA” แล้วตามหาที่ไปที่มาว่าเราได้รู้อะไร ยังไม่รู้อะไร และควรจะรู้อะไรบ้าง จากหนังสืออ้างอิงน่าอ่านเล่มต่าง ๆ ที่น่าสนใจกันจ้า
เครื่องหัวใน LALISA สรุปมันคือ “ชฎา” หรือว่าอะไร กันแน่?
ก่อนอื่นว่ากันด้วย “เครื่องแต่งกาย” ของ LISA อันฮือฮาชุดนั้นตั้งต้นการเดินทางของเรากันก่อน ซึ่งสำหรับชุดนั้นเป็นผลงานการออกแบบของคุณพลพัฒน์ อัศวะประภา แห่ง “ASAVA” (aka พี่หมู อาซาว่า) โดยประยุกต์จาก “ชุดไทยจักรี” ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุดไทยพระราชนิยมที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลปัจจุบันได้ “ทรงคิดทำแบบอย่าง” ไว้ สังเกตจากลักษณะท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งด้าน เป็นสไบสำเร็จซึ่งมีทั้งสไบปักหรือไม่ปักก็ได้ ตัดเย็บติดกับท่อนล่างซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ เป็นผ้าไหมยกทองทั้งตัวหรือยกเฉพาะเชิงก็ได้ โดยชุดของ LISA นั้นตัดเย็บด้วยผ้ายกทองลายพานจักรพรรดิจากจังหวัดลำพูน ปักประดับคริสตัล Swarovski ด้วยมือทั้งหมด
ส่วนต่างหูและสร้อยสังวาลออกแบบโดยคุณศรัณญ อยู่คงดี แห่ง “SARRAN” นำดอกพุดซ้อนที่มีความหมายถึงความแข็งแรงสมบูรณ์และความเจริญมั่นคงตามความเชื่อของไทย มาจัดเรียงให้เป็นช่อและสร้อยสังวาลได้นำแบบอย่างมาจากดอกโป๊ยเซียน ดอกไม้ที่มีความหมายถึงความโชคดี
ส่วนชิ้นงานที่เป็นประเด็นอย่าง “เครื่องประดับศีรษะ” นั้น เป็นผลงานการออกแบบโดยคุณประภากาศ อังศุสิงห์แห่ง “Hook’s by Prapakas” (aka พี่ผักกาด ฮุคส์) ผู้ออกแบบชุดเมขลาล่อแก้ว ที่เคยได้รับคัดเลือกให้เป็นชุดประจำชาติของไทยที่เป็นตัวแทนประกวดมิสยูนิเวิร์ส ประจำปี 2560 และเจ้าของผลงานออกแบบชุดบนเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินแถวหน้าเมืองไทยมานับไม่ถ้วน
ทีนี้ เรื่องชุดนั้นเป็นเอกลักษณ์พอจะยืนยันกับแม่แบบได้ แต่ “เครื่องหัว” นี่สิ ถ้าจะเอาคุ้น ๆ ตากับการดูโขน ดูละคร ก็อาจจะเรียกตาม ๆ กันว่า “ชฎา” แต่เมื่อเป็นผลงานประยุกต์แล้วคงต้องพิจารณาจากลักษณะองค์ประกอบและการสวมใส่ หนังสือเล่มแรกที่เราเลือกเปิดหาคือ หนังสือ “เครื่องศิราภรณ์” โดยบริษัท สยาม แอดมินนิสเทรทีฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้จัดพิมพ์เครื่องศิราภรณ์ของไทย พร้อมคำอธิบายไว้ถึง 36 แบบ เราจึงพบว่าเครื่องหัวเจ้าปัญหานี้ เข้าเค้าความเป็น “เกี้ยว” มากที่สุด ทว่าลักษณะนั้นใหญ่กว่าเกี้ยวมากอยู่
และเมื่อมีความคล้ายคลึงเครื่องประดับศีรษะของโขนละคร หนังสือเล่มต่อมาที่เราเลือกเปิดหา คงไม่มีเล่มใดจะอธิบายได้ชัดเจนกว่า หนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เราจึงได้พบคำตอบที่ค้างคาใจเสียที่ว่า เครื่องประดับชิ้นนี้ควรจะเรียกว่า “รัดเกล้ายอด” โดยหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลว่า “…รัดเกล้า เป็นศิราภรณ์ประดับศีรษะที่ได้รูปแบบมาจาก “เกี้ยว” ซึ่งตามรูปศัพท์ คือ ผูกรัด หมายถึง การผูกรัดมวยผมให้เรียบร้อยด้วยพวงดอกไม้ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นวัสดุมีค่าเช่น ทองคำ แล้วตกแต่งประดับให้งดงามด้วยอัญมณี…” ซึ่งรัดเกล้าที่เป็นศิราภรณ์ในการแสดงนาฎศิลป์ โขน-ละครปรากฏอยู่ ๒ รูปแบบคือ “รัดเกล้าเปลว” และ “รัดเกล้ายอด”
ซึ่ง “รัดเกล้ายอด” ต้นแบบของ LISA นี้ “…เป็นศิราภรณ์สำหรับตัวนางระดับพระมเหสีและเจ้าฟ้าลูกหลวง เช่น ในละครเรื่องอิเหนา ตัวประไหมสุหรี มะเดหวี บุษบา ฯลฯ…”
“ศิราภรณ์” ของสูงเป็นอย่างไรกันแน่?
เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าเครื่องประดับศีรษะต้นแบบของ LISA มาจาก “รัดเกล้ายอด” คำถามต่อมาก็คือ “รัดเกล้ายอด” นี้เป็น “ของสูง” หรือไม่ ของสูงที่ว่านี้ตีความกันไปหลายแบบคือ ของเจ้าของนาย ของมีครู โดยสรุปก็คือ ของที่ไม่ควรไปแตะต้องข้องแวะเกิดพลวัตเคลื่อนไหวจริงหรือ?
เมื่อมาถึงคำถามนี้ เราก็ต้องค้นหากันก่อนว่า “ศิราภรณ์” ของเจ้านายฝ่ายใน ที่ว่ากันว่าเป็นของสูงของโบราณในดินแดนประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะหา “หลักฐานชั้นต้น” แบบของจริง ไม่อิงจินตภาพอย่างจิตรกรรม ประติมากรรมมาตีความตามระเบียบการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว เห็นจะไม่พ้น “สุวรรณมาลา” ที่ปรากฏคำอธิบายใน หนังสือ “เครื่องทองสมัยอยุธยา” โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2548 อย่างชัดเจนว่า “…สุวรรณมาลา ทองคำถัก เป็นศิราภรณ์สำหรับสตรี ศิลปะอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1963) พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยลักษณะของชิ้นงานนั้นถักด้วยเส้นทองคำสานเป็นร่างแหลักษณะคล้ายหมวกทรงกลม ด้านหลังทำเป็นขอบเว้าโค้งสำหรับมุ่นพระเกศาที่เกล้ารวบต่ำ เป็นโบราณวัตถุที่มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศ
ซึ่งสุวรรณมาลานี้ ก็คือภาพหน้าปกของหนังสือ “ถนิมพิมพาภรณ์” โดยกรมศิลปากร หนังสือที่เป็นแม่แบบให้การจัดทำเครื่องประดับเครื่องแต่งการของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศตั้งแต่ยุค “สุริโยไท” เมื่อ 20 ปีมาแล้วจนถึงวัฒนธรรม Pop Culture ในทุกวันนี้
เห็นเค้าลางหน้าตาของศิราภรณ์เจ้านายฝ่ายในอยุธยาเป็นพื้นแล้ว ก็ตามหาพัฒนาการของศิราภรณ์เจ้านายในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์กันต่อ ซึ่งหากจะนับเอาเฉพาะหลักฐานชั้นต้นที่พบ และหลักฐานภาพถ่ายเก่าแบบที่เห็นศิราภรณ์เป็นชิ้นเป็นอันอย่าง “สุวรรณามาลา” เท่านั้น เราก็จะพบว่าหลักฐานชั้นต้นที่ปรากฏนั้น เจ้านายฝ่ายในส่วนใหญ่จะประดับศิราภรณ์อย่าง “เครื่องอลงกรณ์” ตามธรรมเนียมโบราณบ้านเมืองเราใน “พระราชพิธีโสกันต์” หรือสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือ “การโกนจุก” นั่นเอง
จากหนังสือ “ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระราชพิธีโสกันต์” โดยสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังนั้น ปรากฏเครื่องศิราภรณ์ทั้ง พระมงกฎ พระชฎา พระเกี้ยวยอดทองคำประดับเพชร พระเกี้ยวทองคำลงยาสลักลาย และพระมาลาที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีภาพถ่ายเก่าดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือ “สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑” โดยสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์
ทว่าในส่วนศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายในของสยามที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า หลังจากพระราชพิธีโสกันต์นั้น กลับไม่ปรากฏศิราภรณ์อย่างโบราณ แม้ในภาพถ่ายเก่าของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ปรากฏว่าทรงศิราภรณ์ ส่วนเจ้านายฝ่ายในยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาก็มักทรงศิราภรณ์อย่างตะวันตกตามสมัยนิยมแล้ว ดังเช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้น
“รัดเกล้ายอด” มาจากไหน ?
นั่นจึงเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วรัดเกล้ายอด ที่ปรากฏในโขน-ละครของไทยเรานั้น มีที่มาจากไหน? ในเมื่อยังไม่ปรากฏหลักฐานชั้นต้นอย่างชัดเจน (ขีดเส้นใต้) ว่ามีเครื่องศิราภรณ์ประเภทนี้อยู่ในสำรับเครื่องศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายใน นั่นจึงทำให้เราย้อนไปสู่คำอธิบายของรัดเกล้ายอด จากหนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์”ที่ว่าพัฒนามาจาก “เกี้ยว” ก็ทำให้เราพบว่า “…เครื่องแต่งตัวโขนละคร เป็นของถ่ายแบบอย่างมาแต่เครื่องยศศักดิ์ท้าวพระยาแต่ดึกดำบรรพ์เป็นพื้น แต่ก่อนมาจึงมักเป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นสำหรับแต่งโขนละครของหลวงก่อน ต่อพระราชทานอนุญาตหรือไม่ห้ามปรามผู้อื่นจึงจะเอาอย่างไปแต่งโขนละครของตนได้…”
และ “…รัดเกล้ายอดอีกอย่างหนึ่ง เป็นของประดิษฐ์ขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อในรัชกาลที่ 4 และมีประกาศห้ามมิให้ผู้อื่นใช้นอกจากละครหลวง ได้ยินว่าแต่ก่อนมาเคยห้ามมิให้ผู้อื่นทำชฎารัดเกล้าทองคำใส่ละครให้เหมือนกับละครหลวง แต่ก็มีผู้ลักลอบทำให้ละครใส่ ทำนองความอันนี้จะทราบประจักษ์พระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศห้ามแต่มิให้ผู้อื่นทำเครื่องละครลงยาราชาวดี…”
เอาละสิ! นั่นหมายความว่า “รัดเกล้ายอด” นั้นเป็นของที่ทำขึ้นโดยแปลงแบบอย่างจากเครื่องศิราภรณ์ของพระราชวงศ์ เกิดขึ้นใหม่ในชั้นรัชกาลที่ 4 ของเรานี่เอง แต่ว่ารัดเกล้ายอดนั้นเป็นของหวงห้าม ไม่ให้คนอื่นเอาไปทำอย่างใส่ เช่นนั้นแล้วก็น่าเป็นห่วงว่า LISA นั้นจะมีความผิดต้องโทษฟันคอริบเรือนกับเขาหรือไม่ เพราะเมื่อค้นเอกสารจาก “ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 2” เรื่อง “ประกาศว่าด้วยลครผู้หญิง แลเรื่องหมอเรื่องช่าง” เข้าถึงจาก https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาค-๒/๕๘-ประกาศว่าด้วยลครผู้หญิง-แลเรื่องหมอเรื่องช่าง ก็พบว่าทรงออกประกาศระบุถึงการห้ามใช้ “รัดเกล้ายอด” ไว้จริง ๆ ดังความว่า
“…เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้างก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอดพระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายบุตรหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด…”
ฉะนั้นแล้ว “รัดเกล้ายอด” ก็นับเป็นของต้องห้ามตามประกาศนี้ไปเสียแล้ว เห็นว่าจะต้อง #SaveLISA กันแล้วหรือไม่อย่างไร แต่ช้าก่อนสหาย เพราะเห็นว่าเราจะไม่ต้องทำกันถึงขั้นนั้น เนื่องจากธรรมเนียมโขน-ละครนั้น มีระบุว่า “…ต่อพระราชทานอนุญาตหรือไม่ห้ามปรามผู้อื่นจึงจะเอาอย่างไปแต่งโขนละครของตนได้…” และหนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์” ก็ได้เล่าความที่แก้ไขข้อกังวลของเราทุกคนไปได้สิ้นว่า “…การที่หวงห้ามแบบอย่างเครื่องตัวละครหลวง มีมาเพียงรัชกาลที่ 4 ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ก็เลิกการห้ามปราม ละครจึงแต่งตัวกันตามชอบใจทั่วไป มีเจ้าของละครคิดแก้ไขเครื่องแต่งตัวละครเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ ตามอำเภอใจหลายอย่าง…”
ด้วยเหตุนี้จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประยุกต์โขน-ละคร เข้ากับขนบการแสดงบางอย่างของต่างชาติ เช่นการทำฉาก แสงสีเสียง วัสดุอุปกรณ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประกอบฉาก เปิดศักราชของโขน-ละครยุคใหม่ และหมุดหมายสำคัญนั้นก็ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายเก่าของ “โรงละครปรินซ์เธียเตอร์” ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) จากหนังสือ “สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม๑” อีกภาพ ซึ่งภาพถ่ายเก่าภาพนี้แสดงภาพภายในโรงละครที่มีการจัดแสง (เห็นการตั้งเสาจัดไฟส่องกระทบตัวละคร) จัดฉากสวยงาม สมกับการที่โรงละครแห่งนี้จัดแสดงรับแขกบ้านแขกเมืองชาวตะวันตกจนเป็นที่เลื่องลือ
นั่นหมายความว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา “รัดเกล้ายอด” จึงไม่ได้เป็นของหวงห้ามที่ใคร ๆ จะหยิบไปดัดแปลงตกแต่งประยุกต์จัดแสดงไม่ได้อีกต่อไป ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ มีเพียงจารีต (Morals) และวิถีประชา (Folkways) เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ยังคงมีผลอยู่เท่านั้น ซึ่งผิดถูกก็สุดแท้แต่ใครจะตีความกันไปตามแต่บรรทัดฐานส่วนตัวของแต่ละบุคคล
ทว่าสุดท้ายนี้สิ่งที่เราควรจะร่วมกันตั้งคำถามต่อไปหลังจากกระแส “รัดเกล้ายอดของ LISA” คือเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกระแสในครั้งนี้ การทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของเราเอง ด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (อย่างจริงจัง) ตอบคำถาม สื่อสารและทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับโลกทัศน์ที่หมุนไปตามกระแสของโลกอย่างเท่าทัน และที่สุดคือกลายเป็นผู้นำในการส่งออก “วัฒนธรรม” ของเราเองในฐานะสินค้าส่งออกที่เป็นจุดแข็งของชาติบ้านเมืองที่ไม่ฉาบฉวย เพื่อเปิดพื้นที่แห่ง “ความคิดสร้างสรรค์” ที่แท้จริง และเป็นพื้นที่ให้ “ศิลปิน” ที่มีความสามารถได้เติบโตในบ้านเมืองนี้ (อย่างที่ควรจะเป็น) ควรเป็นเช่นไร
ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกัน…