AVOCADO BOOKS

BLOG: Highlight, Trends

ทำไม “วาย” ไม่เท่ากับ “เกย์”

13.08.2021

เคยสงสัยกันไหมครับ ว่า “วาย” กับ “เกย์” นี่อย่างเดียวกันไหม หรือมันแตกต่างกันที่ตรงไหน ในเมื่อ “วาย” คือชายรักชาย และ “เกย์” ก็คือผู้ชายที่ชอบผู้ชาย ทั้งที่สองคำนี้ดูแล้วเหมือนจะคล้ายกัน แต่จริง ๆ แล้วมันกลับโคตรจะแตกต่างกันเลยครับ 

วันนี้รันจะทำหน้าที่แทนโคนัน พาทุกคนมาไขความกระจ่างแบบล้วงลึกถึงไส้ของวายและเกย์ทั้งหมดเลยครับ

วายมาจากคำว่า yaoi ที่หมายถึงชายรักชาย และ yuri ที่หมายถึงหญิงรักหญิง เรามักเจอคำนี้ตามงานเขียน การ์ตูน และสื่อบันเทิง เช่น นิยายวายและซีรีส์วาย ส่วนคำว่าเกย์พวกเราคงคุ้นเคยกับคำนี้ในชีวิตประจำวันมากกว่า เช่นประโยคสนทนาที่ฝ่ายหนึ่งใช้ถามอีกฝ่ายว่า “ผมเป็นเกย์ คุณเป็นเกย์เหมือนกันหรือเปล่า” 

หลายคนพยายามจัดประเภทเพื่อจำกัดขอบเขตทางเพศของทั้งสองคำ จากที่รันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เข้าร่วมอบรม และพูดคุยกับทั้งสองฝ่าย คนที่อยู่ในกลุ่มของวายมักพูดว่า “เกย์เป็นสับเซตของวาย” ขณะที่คนอยู่ในกลุ่มของเกย์หรือ LGBTQ กลับพูดว่า “วายเป็นสับเซตของเกย์” หรือ “วายเป็นสับเซตของ LGBTQ” 

แล้วตกลงคำไหนเป็นเซตใหญ่คำไหนเป็นเซตย่อยกันแน่

ได้ยินเท่านี้ก็ปวดหัวแล้วใช่ไหมครับ ทุกวันนี้คนทั้งสองกลุ่มก็ยังถกเถียงกันอยู่เรื่อย ๆ บางคนก็บอกว่าวายคือผู้ชายที่ไม่สาว ขณะที่เกย์มักรวมคนที่เป็นผู้ชายออกสาวเข้าไป อืม…ถ้าพูดแบบนั้นรันคงต้องเถียง เพราะนิยายวายบางเรื่องตัวละครก็ชมว่าตัวเองสวย บางคนก็พูดจาคะขา บางคนก็แต่งหญิงหรือหยิบหางนางเงือกปลอมมาใส่ถ่ายรูปริมทะเล ซึ่งสำนักพิมพ์และผู้เขียนจัดหมวดเป็นนิยายวายไม่ใช่นิยายเกย์ เช่น เรื่องเฉิ่มเชยของนทกร 

ถ้าแบ่งแบบนั้นจริง ๆ คงปวดหัวแย่ วันนี้รันเลยอยากชวนทุกคนมาเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้มองทั้งสองคำใหม่ จะเป็นไปได้ไหมถ้าให้ทั้งสองคำเป็นเซตที่แยกจากกัน จะเป็นไปได้ไหมถ้ารันบอกว่าไม่มีใครเป็นสับเซตของใคร

คำว่าวาย ใช้กับงานเขียน การ์ตูน และสื่อบันเทิง ลักษณะภายนอก นิสัย สถานภาพทางสังคม และสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องนั้นเกิดจากจินตนาการของผู้เขียนทั้งหมด เพื่อสร้างความสุขให้ผู้อ่านหรือผู้ชม

ในขณะที่คำว่าเกย์มีรากฐานมาจากชีวิตจริง เป็นเพศหนึ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวัน การเป็นเกย์คือเรื่องจริงแถมเป็นเรื่องปกติ เพราะเกย์คือมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีหน้าที่สร้างความสุขให้ผู้แก่อ่านหรือผู้ชม แต่มีหน้าที่สร้างความสุขให้ตนเอง

ถ้าใช้เลนส์นี้ในการมอง คำว่าเกย์และคำว่าวายจึงไม่ควรเป็นสับเซตของกันและกัน เพราะจุดเริ่มต้นของทั้งสองคำมันแตกต่างกันมากครับ

ถ้าให้รันล้วงเข้าไปในไส้ของคำว่าวายและเกย์ ทุกคนจะได้เห็นว่ามีสิ่งที่แตกต่างกันอีกเยอะเลยครับ 

วายเป็นลักษณะของชายรักชายที่คอยสร้างความสุขและความบันเทิงให้ผู้อ่าน ตัวละครฝ่ายพระเอกเป็นตัวละครที่หล่อมาก ๆ ส่วนนายเอกจะค่อนไปทางน่ารักมากกว่าหล่อ ฝ่ายหนึ่งมาดแมนเข้มแข็งทั้งตัวมีแต่กล้ามเนื้อ มีหน้าที่คอยปกป้องดูแล ขณะที่อีกฝ่ายจะตัวเล็กน่ารักดูอ่อนแอชอบร้องไห้และอ่อนไหวทางความรู้สึก สตอรี่ของพระเอกนายเอกเดินไปเรื่อย ๆ ตามโครงสร้างการเล่าเรื่อง ทุก ๆ ตอนคือการพัฒนาความสัมพันธ์ บางฉากก็คล้ายชีวิตจริง ขณะที่บางฉากก็ค่อนข้างเกินจริงเพราะมาจากจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่อสร้างความสุขให้ผู้อ่านและผู้ชม

ส่วนคำว่าเกย์เป็นคำที่อยู่บนรากฐานของชีวิตจริง เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีตัวตนในฐานะชายรักชาย คู่รักเกย์ในชีวิตจริงไม่จำเป็นต้องหน้าตาดีตามคำว่าวาย เพราะชีวิตจริงมีชายรักชายที่รูปร่างอ้วน ท้วม ผิวเข้มดำคล้ำ หัวล้าน หนวดเครารุงรัง บางคนก็อายุมาก แถมไม่ได้ดูดีตลอดเวลา เกย์บางคู่ก็ดูแมนทั้งสองฝ่าย แต่บางคู่ก็ดูหวานหรือสาวทั้งสองคน จนแยกไม่ได้ว่าใครเป็นฝ่ายดูแลปกป้องอีกฝ่าย สิ่งสำคัญที่รันอยากอธิบายคือเกย์แต่ละคนนั้นเจอเรื่องราวที่แตกต่างกัน บางคนมีชีวิตที่เรียบง่ายในขณะที่บางคนอาจมีชีวิตที่ยากลำบาก บางคนต้องการความรักในรูปแบบคู่รัก ขณะที่บางคนอาจต้องการความรักและความสัมพันธ์แบบเพื่อนมากกว่าคนรัก 

เพราะจุดเริ่มต้นของคำทั้งสองนั้นแตกต่างกัน ทั้งสองคำจึงควรอยู่ในเซตที่แยกจากกัน รันว่าทุกคนคงพอจะเข้าใจแล้วว่า “วาย” และ “เกย์” แตกต่างกันมาก แต่ทั้งสองคำดันมีบางอย่างที่ร่วมกัน ในความเป็นวายมีความเป็นเกย์ และในความเป็นเกย์ก็มีความเป็นวาย

คนเสพงานวายส่วนหนึ่งบอกว่า วายไม่ใช่เกย์แต่คือผู้ชายที่รักผู้ชายอีกคน ตัวละครจะไม่ยอมคบกับผู้ชายคนอื่น รันจะล้วงไส้ให้ทุกคนดูแล้วนะครับ ถ้ามองให้ลึกลงไปในระดับความสัมพันธ์ ตัวละครในสื่อวายเหล่านั้นยังไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ เพราะเพิ่งผ่านกระบวนการ Coming out ออกมา พระเอกบางคนคบผู้หญิงมาทั้งชีวิต และหลังจากที่เจอนายเอก ความรู้สึกของพระเอกเลยค่อย ๆ เปลี่ยนไป พระเอกจะค่อย ๆ มองว่านายเอกน่ารักขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดทั้งคู่จะเลื่อนสถานะเป็น In relationship ซึ่งความสัมพันธ์ทั้งหมดนั้นสิ้นสุดลงตรงหน้าสุดท้ายของหนังสือแล้ว เราเลยบอกไม่ได้ว่าตัวละครจะสามารถรักหรือชอบผู้ชายคนอื่นได้อีกไหมในเมื่อหน้าสุดท้ายตัวละครก็รักกันดีแถมไม่คิดจะมีคนอื่น มันเลยไม่ผิดที่ผู้เสพบางคนจะบอกว่าวายไม่ใช่เกย์

อีกมุมหนึ่งคือมีนิยายวายบางเรื่องที่ตัวละครยอมรับตรง ๆ ว่าตัวเองเป็นเกย์ พระเอกบางคนเคยคบกับผู้ชายคนอื่นก่อนที่จะได้พบนายเอก เช่นเดียวกับนายเอกบางคนที่เคยคบหรือชอบผู้ชายคนอื่นก่อนจะได้พบพระเอก ถ้านิยายหรือซีรีส์เรื่องนั้นเป็นอย่างที่รันบอกคำว่าวายจะใกล้เคียงกับเกย์มากครับ เพราะทั้งตัวละครและผู้เขียนต่างยอมรับในเพศของพระเอกนายเอกว่าตนเป็นเกย์ 

เช่น ธาร (พระเอก) จากเรื่อง Tharn Type เกลียดนักมาเป็นที่รักซะดี ๆ ธารยอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์แถมยังเปิดเผยกับเพื่อนและครอบครัวว่าชอบผู้ชาย ธารเคยมีแฟนเก่าเป็นผู้ชายหลายคนก่อนจะมาเจอไทป์ (นายเอก) ที่เป็นผู้ชายปกติ ซึ่งไทป์เป็นตัวละครที่ชอบผู้หญิงมาก่อน แถมเกลียดเกย์เข้ากระดูกดำจากปมตอนเด็กที่เคยถูกเกย์ล่วงละเมิดทางเพศ 

นิยายเรื่อง Tharn Type เกลียดนักมาเป็นที่รักซะดี ๆ พระเอกนายเอกค่อนข้างหลุดกรอบความเป็นวายมากเลยครับ เพราะนักเขียนนำเสนอมุมมองของเกย์และผู้ชายที่เกลียดเกย์ แถมไทป์ยังเป็นนายเอกที่ไม่ได้ตัวเล็กผิวขาว ไทป์เป็นคนผิวเข้มแถมสูงเกิน 180 เซนติเมตร แต่เพราะผ่านเหตุการณ์บางอย่างมาจึงกลายเป็นชายรักชายและเปิดใจยอมรับเกย์มากขึ้น (ถ้าอยากรู้ว่าเหตุการณ์เป็นยังไงรันแนะนำให้ทุกคนไปตามอ่านกันในหนังสือหรือดูซีรีส์นะครับ) ทุกคนคงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่าเรื่อง Tharn Type สะท้อนมิติความเป็นเกย์เยอะมาก แต่นักเขียนก็ยังจัดเรื่องนี้อยู่ในหมวดนิยายวาย 

เพราะแบบนั้นคำว่า “วาย” เลยไม่เท่ากับ “เกย์” แต่ทั้งสองคำมีจุดร่วมบางอย่างที่ทำงานร่วมกัน

นิยายวายบางเรื่องอาจสะท้อนภาพและมุมมองของเกย์จริง ๆ ขณะที่คู่รักเกย์ในชีวิตจริงบางคู่ก็อาจดูคล้ายคู่รักในนิยายวาย เช่น ฝ่ายหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ขณะที่อีกฝ่ายตัวเล็กบอบบาง ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความเหมือนและความต่างครับ

วายไม่เท่ากับเกย์ แต่วายมีจุดร่วมบางอย่างกับเกย์ รันเลยไม่เห็นด้วยกับการพูดคำว่าเป็นสับเซต รันอยากให้แยกสองคำนี้ด้วยเรื่องแต่งกับเรื่องจริง วายและเกย์ควรเป็นเซตที่มีบางส่วนเกี่ยวเนื่องกันในรูปแบบ อินเตอร์เซกชัน (Intersection)

รันขอสรุปไว้ตรงนี้ว่าวายไม่เท่ากับเกย์ แต่วายมีความเป็นเกย์และเกย์มีความเป็นวายปนกันอยู่ เพราะฉะนั้นพวกเราควรแยกพิจารณาเป็นเล่ม ๆ หรือเป็นกรณีมากกว่าการเหมารวมว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นสับเซตของอีกฝ่าย

เรื่องโดย Run(END) ศรัณย์ พ.จานุพิบูล


เอกสารอ้างอิง

  • ธัญวลัย. (2558). คำศัพท์น่ารู้ฉบับสาววาย[Y]บัณฑิต. [สืบค้นออนไลน์]. เว็บไซต์ธัญวลัย. เข้าถึงได้จาก: https://www.tunwalai.com/blog/78/คำศัพท์น่ารู้ฉบับสาววายy บัณฑิต [10 กรกฎาคม 2564]
  • มติชนออนไลน์. (2563). นิยายวาย (Y) คืออะไร? ทำไมถึงเป็นนิยายที่น่าจับตามอง. [สืบค้นออนไลน์]. เว็บไซต์มติชน. เข้าถึงได้จาก: https://www.matichon.co.th/publicize/news_2261288 [10 กรกฎาคม 2564]
  • ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์. (2561). นิยายวาย : กระแสนิยม และกระจกสะท้อนสังคมที่ ‘ไร้เดียงสาทางเพศ’. [สืบค้นออนไลน์]. เว็บไซต์ the101.world. เข้าถึงได้จาก: https://www.the101.world/what-yaoi-tell-us/ [10 กรกฎาคม 2564]
  • Chanan Yodhong. (2564). วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน. [สืบค้นออนไลน์]. เว็บไซต์ thematter. เข้าถึงได้จาก: https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/ [10 กรกฎาคม 2564]
  • Mame. (2562). TharnType Story เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ เล่ม (1-2) [ปกนักแสดง]. ม.ป.ท: ผู้แต่ง.
  • shomona. (2563). “นิยายวาย” แตกต่างจาก “นิยายเกย์” อย่างไร?. [สืบค้นออนไลน์]. เว็บไซต์ minimore. เข้าถึงได้จาก: https://minimore.com/b/2G0Ka/1 [10 กรกฎาคม 2564]

STORY BY :

ศรัณย์ พ.จานุพิบูล (ปอนด์)

ศรัณย์ พ.จานุพิบูล (ปอนด์)

พี่ ๆ ป.โทที่คณะจะเรียกน้องปอนด์ ส่วนเด็ก ๆ จะเรียกครูปอนด์ จบวิศวะและนิเทศ เป็นคุณครูและนักเขียน มีความสุขและสนุกกับการทำงานมาก ๆ จนรู้สึกว่าเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันมันน้อยเกินไป จริง ๆ นะครับ : )