AVOCADO BOOKS

BLOG: Highlight, Others​

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมชื่อหนังสือถึงชอบอยากคุยกับเรา?

20.07.2021

เขาว่ากันว่าไม่ว่าเราจะหนีไปที่ไหนบนโลก ก็ไม่อาจหนีการสื่อสารไปได้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีเสียงพูด เสียงธรรมชาติ ขนาดอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ก็ยังได้ยินเสียงหัวใจที่ลอยไปถึงเธอได้เลยครับ / อันหลังนี่ใช่เหรอ

เรื่องที่วันนี้หยิบมาเล่า มาจากความรู้สึกส่วนตัวของผมเองที่เวลาไปร้านหนังสือ หรือตอนที่ต้องชอปปิงหนังสือผ่านออนไลน์ก็จะต้องเจอชื่อหนังสือที่อยากคุยกับเราตลอดเวลา

ตัวอย่างก็เช่น

กินกบตัวนั้นซะ! (กินในร้านหนังสือเนี่ยนะ และที่นี่มีกบเหรอ กรี๊ด)

นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ (ก็นายดูรัฐบาลเราดิ)

คุณฉลาดพอจะทำงานที่ Google หรือเปล่า? (เอ้า! นายท้าทายเราทำไม)

Source: https://www.welearnbook.com/ , https://amarinbooks.com/

หรือจะขยับตัวมาดูฝั่งหนังสือการ์ตูนบ้าง ก็ยังเจอ!

อุตส่าห์มีคนมาชอบทั้งที ทำไมต้องเป็นยัยนี่ด้วยนะ (ก็ยังดีกว่าฉันที่ไม่มีใครปะแก)

สารภาพรักกับคุณคางุยะซะดี ๆ (อันนี้คือคุยกับเล่มตะกี้ป่ะ)

Source: https://www.central.co.th/ , https://www.mangaqube.com/

ครับ พอเจออะไรแบบนี้บ่อยเข้าก็เริ่มรู้สึกยุกยิกอยากหาคำตอบ อยากรู้ให้ได้ว่า ทำไมเขาถึงตั้งชื่อหนังสือกันแบบนี้ และที่จริงหลักในการตั้งชื่อหนังสือมันเป็นอย่างไร มารู้ไปด้วยกันเลยครับ!

ตั้งชื่อหนังสือเขาทำกันยังไง?

ที่จริงแล้วมีทฤษฎีและหลักการตั้งชื่อหนังสือมากมาย แต่ผมขอเลือกของทาง MASTERCLASS มาเล่าให้ฟังครับ เขาบอกว่าคุณลักษณะของชื่อหนังสือที่ดีนั้นมีด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ

  1. ต้องเข้าใจง่าย! อย่าลืมว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ออนไลน์มีผลต่อเราในทุกมิติแล้ว ดังนั้นชื่อหนังสือที่ตั้งก็ควรให้มีคำที่ค้นหาได้อย่างชัดเจน เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่คำที่เสี่ยงต่อการเขียนผิด เพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสเจอหนังสือของคุณได้ง่ายขึ้น รวมถึงสะดวกต่อเขาที่จะพูดถึงชื่อหนังสือของคุณเวลาไปร้านหนังสือ
  2. ต้องแน่ใจว่าไม่ซ้ำกับใคร! เรื่องสำคัญคือชื่อหนังสือคุณต้องไม่ซ้ำกับคนอื่น หรือมีคนใช้ชื่อนี้ไปแล้ว เพราะมันจะเสี่ยงมากที่หนังสือของคุณจะถูกนึกว่าเป็นเล่มอื่นเมื่อถูกพูดถึง
  3. ต้องทำให้นึกแนวทางเรื่องออกได้! จุดนี้อาจจะรู้สึกขัดใจสำหรับสายวรรณกรรมอยู่บ้าง แต่เชื่อเถอะครับว่าการที่ให้คนอ่านรู้สึกถึงทิศทางหรือหมวดของเนื้อเรื่องออก ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เพราะมันจะทำให้คุณไม่ต้องใช้เวลาในการเล่าหรือปูพื้นฐานความเข้าใจให้กับผู้อ่านมากนัก และยังเป็นประโยชน์กับร้านค้าหรือเว็บไซต์ในการจัดหมวดหนังสือให้กับเล่มของคุณอีกด้วยครับ
  4. ต้องระวังการนึกไปถึงเรื่องไม่ดี! ข้อควรระวังที่หลายคนชอบมองข้ามคือตั้งชื่อหนังสือในความหมายหนึ่ง แต่คนอ่านกลับคิดไปอีกความหมายหนึ่งแทน เรื่องพวกนี้บางทีเจ้าตัวเองอาจนึกไม่ถึง แก้ไขได้ด้วยการให้คนอื่นลองช่วยอ่านหรือช่วยกันเช็กก่อน ก็จะปลอดภัยมากขึ้นนะ

แล้วทำไมชื่อหนังสือถึงชอบคุยกับเรา?

จากคุณลักษณะของชื่อหนังสือที่ดี 4 ข้อข้างต้นที่ได้ว่าไปแล้ว ผมก็ขอยกเอาทฤษฎีหลักการตลาด 5A ของคุณปู่ Philip Kotler มาพูดถึงเพิ่มเติมครับ 

โดย 5A ที่ว่านี่ก็คือ Aware (รับรู้), Appeal (สนใจ), Ask (สอบถาม), Act (ตัดสินใจ), Advocate (แนะนำบอกต่อ) ซึ่งการตั้งชื่อหนังสือในรูปแบบที่เป็นประโยคพูดคุยกับคนที่พบเจอหรือนักอ่านนั้น บางเล่มครอบคลุมถึง 3 ข้อเลยทีเดียว!!

Source: https://www.panasm.com/marketing-4-0/

ยกตัวอย่าง คุณฉลาดพอจะทำงานที่ Google หรือเปล่า?

อันนี้ก็รับรู้ได้ทันทีว่าหนังสือพูดถึงเรื่องราวของการทำงานที่ Google ชวนให้เราสนใจต่อด้วยคำถามที่ว่าเราฉลาดพอหรือเปล่า

และเราก็ไม่มีคำถามหรือสงสัยอะไรจากหนังสือ เพราะตัวหนังสือก็สื่อถึงเรื่องราวในเล่มไปแล้วอย่างชัดเจน ทำให้เราเหลือแค่การตัดสินใจซื้อหนังสือกลับไปอ่าน และอยู่ที่เราจะชอบเล่มนี้จนอยากบอกต่อหรือเปล่า

ด้วยเหตุผลที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ทำให้ทุกคนจะเห็นได้ว่า การตั้งชื่อหนังสือในลักษณะชวนคุยหรือการตั้งคำถามให้กับผู้พบเห็นนั้น จึงเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งของหนังสือหรือสำนักพิมพ์ เพราะมันจะทำให้เราถูกดึงดูดทันทีจากความแปลกใหม่และเข้าใจจนนึกภาพตามต่อได้ เพื่อทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจหยิบมันลงจากชั้นหนังสือและเดินไปชำระเงิน

เพราะท้ายที่สุดแล้ว หนังสือทุกเล่มต่างจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อถูกอ่านนั่นเองครับ 🙂 

STORY BY :

ทศพล เหลืองศุภภรณ์

ทศพล เหลืองศุภภรณ์

Your Friendly Content Writer Neighborhood.