AVOCADO BOOKS

BLOG: Highlight, Trends

คุยเรื่องเครื่องหัวใน “LALISA” หาความรู้ใส่หัว ผ่านตัวหนังสือกันบ้าง

13.09.2021

ณ วินาทีที่ภาพยนตร์สั้นประกอบเพลง “LALISA” (อยู่ ๆ ก็อยากจะเรียก MV แบบเวอร์ๆ ซะงั้น) เปิดตัวเพลงแรกจากอัลบั้มเดี่ยวของ Lisa BLACKPINK (aka นุ้งลิซ่า) ศิลปินเกาหลีเชื้อชาติไทย ความภาคภูมิใจแบบไม่ต้องรอเวลาโฆษณาหลังสี่ทุ่ม ทำสถิติยอดรับชมกว่า 100 ล้านวิวไปเป็นที่เรียบร้อยภายในสองวัน โลกโซเชียลมีเดียของไทยก็ถูกเขย่าด้วยประเด็นต่าง ๆ นานา จากการล้วงแคะแกะเกา ตีความ MV มีทั้งเรื่อง นัยแฝงทางการเมืองหรือเปล่า วงการศิลปะเมืองไทยไปถึงไหน ทำไมศิลปินเชื้อชาติไทยเก่ง ๆ ถึงต้องไปเติบโตในร่มเงาเกาหลี เป็นอาทิ

แต่ที่สื่อออนไลน์แทบทุกหัว เพจวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และวงการแฟชั่นพุ่งประเด็นให้ความสนใจนั่นคือช่วงหนึ่งของ MV ได้ปรากฏภาพศิลปินใน “ชุดไทยใส่ศิราภรณ์” เป็นที่ฮือฮาจนเกิดกระแสขุดภาพตัวเองใส่เครื่องหัวมาเล่นสนุก บ้างชื่นชม บ้างไม่ชอบ บ้างก็บอกจะไปเอาอะไรนักหนา เรียกได้ว่าเครื่องหัวของ Lisa กลายเป็นเรื่องหนักหัวของหลายท่านไปได้

เอาเป็นว่าเราก็ขอ “โหน LISA” อย่างใครเขากันบ้าง (อื้อ โหนก็บอกว่าโหน!) แต่ No จ้า เราจะไม่ยอมใครมาว่าเราโหน LISA อย่างหน้าไม่อาย เพราะวันนี้เราจะชวนทุกท่านมาตั้งโจทย์จาก “เครื่องหัวใน LALISA” แล้วตามหาที่ไปที่มาว่าเราได้รู้อะไร ยังไม่รู้อะไร และควรจะรู้อะไรบ้าง จากหนังสืออ้างอิงน่าอ่านเล่มต่าง ๆ ที่น่าสนใจกันจ้า

เครื่องหัวใน LALISA สรุปมันคือ “ชฎา” หรือว่าอะไร กันแน่?

ก่อนอื่นว่ากันด้วย “เครื่องแต่งกาย” ของ LISA อันฮือฮาชุดนั้นตั้งต้นการเดินทางของเรากันก่อน ซึ่งสำหรับชุดนั้นเป็นผลงานการออกแบบของคุณพลพัฒน์ อัศวะประภา แห่ง “ASAVA” (aka พี่หมู อาซาว่า) โดยประยุกต์จาก “ชุดไทยจักรี” ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุดไทยพระราชนิยมที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลปัจจุบันได้ “ทรงคิดทำแบบอย่าง” ไว้  สังเกตจากลักษณะท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งด้าน เป็นสไบสำเร็จซึ่งมีทั้งสไบปักหรือไม่ปักก็ได้ ตัดเย็บติดกับท่อนล่างซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ เป็นผ้าไหมยกทองทั้งตัวหรือยกเฉพาะเชิงก็ได้ โดยชุดของ LISA นั้นตัดเย็บด้วยผ้ายกทองลายพานจักรพรรดิจากจังหวัดลำพูน ปักประดับคริสตัล Swarovski ด้วยมือทั้งหมด

ส่วนต่างหูและสร้อยสังวาลออกแบบโดยคุณศรัณญ อยู่คงดี แห่ง “SARRAN” นำดอกพุดซ้อนที่มีความหมายถึงความแข็งแรงสมบูรณ์และความเจริญมั่นคงตามความเชื่อของไทย มาจัดเรียงให้เป็นช่อและสร้อยสังวาลได้นำแบบอย่างมาจากดอกโป๊ยเซียน ดอกไม้ที่มีความหมายถึงความโชคดี

ส่วนชิ้นงานที่เป็นประเด็นอย่าง “เครื่องประดับศีรษะ” นั้น เป็นผลงานการออกแบบโดยคุณประภากาศ อังศุสิงห์แห่ง “Hook’s by Prapakas” (aka พี่ผักกาด ฮุคส์) ผู้ออกแบบชุดเมขลาล่อแก้ว ที่เคยได้รับคัดเลือกให้เป็นชุดประจำชาติของไทยที่เป็นตัวแทนประกวดมิสยูนิเวิร์ส ประจำปี 2560 และเจ้าของผลงานออกแบบชุดบนเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินแถวหน้าเมืองไทยมานับไม่ถ้วน

หนังสือ “เครื่องศิราภรณ์”
โดยบริษัท สยาม แอดมินนิสเทรทีฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด

ทีนี้ เรื่องชุดนั้นเป็นเอกลักษณ์พอจะยืนยันกับแม่แบบได้ แต่ “เครื่องหัว” นี่สิ ถ้าจะเอาคุ้น ๆ ตากับการดูโขน ดูละคร ก็อาจจะเรียกตาม ๆ กันว่า “ชฎา” แต่เมื่อเป็นผลงานประยุกต์แล้วคงต้องพิจารณาจากลักษณะองค์ประกอบและการสวมใส่ หนังสือเล่มแรกที่เราเลือกเปิดหาคือ หนังสือ “เครื่องศิราภรณ์” โดยบริษัท สยาม แอดมินนิสเทรทีฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้จัดพิมพ์เครื่องศิราภรณ์ของไทย พร้อมคำอธิบายไว้ถึง 36 แบบ เราจึงพบว่าเครื่องหัวเจ้าปัญหานี้ เข้าเค้าความเป็น “เกี้ยว” มากที่สุด ทว่าลักษณะนั้นใหญ่กว่าเกี้ยวมากอยู่

และเมื่อมีความคล้ายคลึงเครื่องประดับศีรษะของโขนละคร หนังสือเล่มต่อมาที่เราเลือกเปิดหา คงไม่มีเล่มใดจะอธิบายได้ชัดเจนกว่า หนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์” โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เราจึงได้พบคำตอบที่ค้างคาใจเสียที่ว่า เครื่องประดับชิ้นนี้ควรจะเรียกว่า “รัดเกล้ายอด” โดยหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลว่า “…รัดเกล้า เป็นศิราภรณ์ประดับศีรษะที่ได้รูปแบบมาจาก “เกี้ยว” ซึ่งตามรูปศัพท์ คือ ผูกรัด หมายถึง การผูกรัดมวยผมให้เรียบร้อยด้วยพวงดอกไม้ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นวัสดุมีค่าเช่น ทองคำ แล้วตกแต่งประดับให้งดงามด้วยอัญมณี…” ซึ่งรัดเกล้าที่เป็นศิราภรณ์ในการแสดงนาฎศิลป์ โขน-ละครปรากฏอยู่ ๒ รูปแบบคือ “รัดเกล้าเปลว” และ “รัดเกล้ายอด”

ซึ่ง “รัดเกล้ายอด” ต้นแบบของ LISA นี้ “…เป็นศิราภรณ์สำหรับตัวนางระดับพระมเหสีและเจ้าฟ้าลูกหลวง เช่น ในละครเรื่องอิเหนา ตัวประไหมสุหรี มะเดหวี บุษบา ฯลฯ…”

“รัดเกล้ายอด” ศิราภรณ์ของ “นางตรีชฎา” ชายาของพิเภก
จากการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี ๒๕๖๑ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์”

“ศิราภรณ์” ของสูงเป็นอย่างไรกันแน่?

            เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าเครื่องประดับศีรษะต้นแบบของ LISA มาจาก “รัดเกล้ายอด” คำถามต่อมาก็คือ “รัดเกล้ายอด” นี้เป็น “ของสูง” หรือไม่ ของสูงที่ว่านี้ตีความกันไปหลายแบบคือ ของเจ้าของนาย ของมีครู โดยสรุปก็คือ ของที่ไม่ควรไปแตะต้องข้องแวะเกิดพลวัตเคลื่อนไหวจริงหรือ?

หนังสือ “เครื่องทองสมัยอยุธยา”
โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2548

เมื่อมาถึงคำถามนี้ เราก็ต้องค้นหากันก่อนว่า “ศิราภรณ์” ของเจ้านายฝ่ายใน ที่ว่ากันว่าเป็นของสูงของโบราณในดินแดนประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะหา “หลักฐานชั้นต้น” แบบของจริง ไม่อิงจินตภาพอย่างจิตรกรรม ประติมากรรมมาตีความตามระเบียบการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว เห็นจะไม่พ้น “สุวรรณมาลา” ที่ปรากฏคำอธิบายใน หนังสือ “เครื่องทองสมัยอยุธยา” โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช 2548 อย่างชัดเจนว่า “…สุวรรณมาลา ทองคำถัก เป็นศิราภรณ์สำหรับสตรี ศิลปะอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1963) พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” โดยลักษณะของชิ้นงานนั้นถักด้วยเส้นทองคำสานเป็นร่างแหลักษณะคล้ายหมวกทรงกลม ด้านหลังทำเป็นขอบเว้าโค้งสำหรับมุ่นพระเกศาที่เกล้ารวบต่ำ เป็นโบราณวัตถุที่มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศ

หนังสือ “ถนิมพิมพาภรณ์” โดยกรมศิลปากร

ซึ่งสุวรรณมาลานี้ ก็คือภาพหน้าปกของหนังสือ “ถนิมพิมพาภรณ์” โดยกรมศิลปากร หนังสือที่เป็นแม่แบบให้การจัดทำเครื่องประดับเครื่องแต่งการของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศตั้งแต่ยุค “สุริโยไท” เมื่อ 20 ปีมาแล้วจนถึงวัฒนธรรม Pop Culture ในทุกวันนี้

“สุวรรณมาลา” ที่ปรากฏเป็นหลักฐานชั้นต้นในหมวดศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายในที่เก่าแก่ที่สุด

เห็นเค้าลางหน้าตาของศิราภรณ์เจ้านายฝ่ายในอยุธยาเป็นพื้นแล้ว ก็ตามหาพัฒนาการของศิราภรณ์เจ้านายในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์กันต่อ ซึ่งหากจะนับเอาเฉพาะหลักฐานชั้นต้นที่พบ และหลักฐานภาพถ่ายเก่าแบบที่เห็นศิราภรณ์เป็นชิ้นเป็นอันอย่าง “สุวรรณามาลา” เท่านั้น เราก็จะพบว่าหลักฐานชั้นต้นที่ปรากฏนั้น เจ้านายฝ่ายในส่วนใหญ่จะประดับศิราภรณ์อย่าง “เครื่องอลงกรณ์” ตามธรรมเนียมโบราณบ้านเมืองเราใน “พระราชพิธีโสกันต์” หรือสำหรับประชาชนทั่วไปก็คือ “การโกนจุก” นั่นเอง

จากหนังสือ “ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระราชพิธีโสกันต์” โดยสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังนั้น ปรากฏเครื่องศิราภรณ์ทั้ง พระมงกฎ พระชฎา พระเกี้ยวยอดทองคำประดับเพชร พระเกี้ยวทองคำลงยาสลักลาย และพระมาลาที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีภาพถ่ายเก่าดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือ “สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑” โดยสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์

หนังสือ “ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระราชพิธีโสกันต์”
โดยสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

            ทว่าในส่วนศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายในของสยามที่ปรากฏในภาพถ่ายเก่า หลังจากพระราชพิธีโสกันต์นั้น กลับไม่ปรากฏศิราภรณ์อย่างโบราณ แม้ในภาพถ่ายเก่าของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ปรากฏว่าทรงศิราภรณ์ ส่วนเจ้านายฝ่ายในยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาก็มักทรงศิราภรณ์อย่างตะวันตกตามสมัยนิยมแล้ว ดังเช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา) 
ทรงพระเกี้ยวยอดทองคำประดับเพชรในพระราชพิธีโสกันต์ พุทธศักราช 2439

“รัดเกล้ายอด” มาจากไหน ?

            นั่นจึงเป็นคำถามต่อมาว่า แล้วรัดเกล้ายอด ที่ปรากฏในโขน-ละครของไทยเรานั้น มีที่มาจากไหน? ในเมื่อยังไม่ปรากฏหลักฐานชั้นต้นอย่างชัดเจน (ขีดเส้นใต้) ว่ามีเครื่องศิราภรณ์ประเภทนี้อยู่ในสำรับเครื่องศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายใน นั่นจึงทำให้เราย้อนไปสู่คำอธิบายของรัดเกล้ายอด จากหนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์”ที่ว่าพัฒนามาจาก “เกี้ยว” ก็ทำให้เราพบว่า “…เครื่องแต่งตัวโขนละคร เป็นของถ่ายแบบอย่างมาแต่เครื่องยศศักดิ์ท้าวพระยาแต่ดึกดำบรรพ์เป็นพื้น แต่ก่อนมาจึงมักเป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นสำหรับแต่งโขนละครของหลวงก่อน ต่อพระราชทานอนุญาตหรือไม่ห้ามปรามผู้อื่นจึงจะเอาอย่างไปแต่งโขนละครของตนได้…”

            และ “…รัดเกล้ายอดอีกอย่างหนึ่ง เป็นของประดิษฐ์ขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อในรัชกาลที่ 4 และมีประกาศห้ามมิให้ผู้อื่นใช้นอกจากละครหลวง ได้ยินว่าแต่ก่อนมาเคยห้ามมิให้ผู้อื่นทำชฎารัดเกล้าทองคำใส่ละครให้เหมือนกับละครหลวง แต่ก็มีผู้ลักลอบทำให้ละครใส่ ทำนองความอันนี้จะทราบประจักษ์พระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศห้ามแต่มิให้ผู้อื่นทำเครื่องละครลงยาราชาวดี…”

หนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์”
โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เอาละสิ! นั่นหมายความว่า “รัดเกล้ายอด” นั้นเป็นของที่ทำขึ้นโดยแปลงแบบอย่างจากเครื่องศิราภรณ์ของพระราชวงศ์ เกิดขึ้นใหม่ในชั้นรัชกาลที่ 4 ของเรานี่เอง แต่ว่ารัดเกล้ายอดนั้นเป็นของหวงห้าม ไม่ให้คนอื่นเอาไปทำอย่างใส่ เช่นนั้นแล้วก็น่าเป็นห่วงว่า LISA นั้นจะมีความผิดต้องโทษฟันคอริบเรือนกับเขาหรือไม่ เพราะเมื่อค้นเอกสารจาก “ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 2” เรื่อง “ประกาศว่าด้วยลครผู้หญิง แลเรื่องหมอเรื่องช่าง” เข้าถึงจาก https://vajirayana.org/ประชุมประกาศรัชกาลที่-๔-ภาค-๒/๕๘-ประกาศว่าด้วยลครผู้หญิง-แลเรื่องหมอเรื่องช่าง ก็พบว่าทรงออกประกาศระบุถึงการห้ามใช้ “รัดเกล้ายอด” ไว้จริง ๆ ดังความว่า

            “…เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้างก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอดพระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายบุตรหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด…”

            ฉะนั้นแล้ว “รัดเกล้ายอด” ก็นับเป็นของต้องห้ามตามประกาศนี้ไปเสียแล้ว เห็นว่าจะต้อง #SaveLISA กันแล้วหรือไม่อย่างไร แต่ช้าก่อนสหาย เพราะเห็นว่าเราจะไม่ต้องทำกันถึงขั้นนั้น เนื่องจากธรรมเนียมโขน-ละครนั้น มีระบุว่า “…ต่อพระราชทานอนุญาตหรือไม่ห้ามปรามผู้อื่นจึงจะเอาอย่างไปแต่งโขนละครของตนได้…” และหนังสือ “วิวัฒนาการเครื่องแต่งกาย โขน-ละคร สมัยรัตนโกสินทร์” ก็ได้เล่าความที่แก้ไขข้อกังวลของเราทุกคนไปได้สิ้นว่า “…การที่หวงห้ามแบบอย่างเครื่องตัวละครหลวง มีมาเพียงรัชกาลที่ 4 ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ก็เลิกการห้ามปราม ละครจึงแต่งตัวกันตามชอบใจทั่วไป มีเจ้าของละครคิดแก้ไขเครื่องแต่งตัวละครเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ ตามอำเภอใจหลายอย่าง…”

หนังสือ “สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : 
ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑”
 โดยสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์

ด้วยเหตุนี้จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประยุกต์โขน-ละคร เข้ากับขนบการแสดงบางอย่างของต่างชาติ เช่นการทำฉาก แสงสีเสียง วัสดุอุปกรณ์เครื่องแต่งกายและเครื่องประกอบฉาก เปิดศักราชของโขน-ละครยุคใหม่ และหมุดหมายสำคัญนั้นก็ปรากฏหลักฐานเป็นภาพถ่ายเก่าของ “โรงละครปรินซ์เธียเตอร์” ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) จากหนังสือ “สมุดภาพสยามเรเนซองส์ : ความทรงจำแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม๑” อีกภาพ ซึ่งภาพถ่ายเก่าภาพนี้แสดงภาพภายในโรงละครที่มีการจัดแสง (เห็นการตั้งเสาจัดไฟส่องกระทบตัวละคร) จัดฉากสวยงาม สมกับการที่โรงละครแห่งนี้จัดแสดงรับแขกบ้านแขกเมืองชาวตะวันตกจนเป็นที่เลื่องลือ

ภายในโรงละครปรินซ์เธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา “รัดเกล้ายอด” จึงไม่ได้เป็นของหวงห้ามที่ใคร ๆ จะหยิบไปดัดแปลงตกแต่งประยุกต์จัดแสดงไม่ได้อีกต่อไป ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ มีเพียงจารีต (Morals) และวิถีประชา (Folkways) เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ยังคงมีผลอยู่เท่านั้น ซึ่งผิดถูกก็สุดแท้แต่ใครจะตีความกันไปตามแต่บรรทัดฐานส่วนตัวของแต่ละบุคคล

            ทว่าสุดท้ายนี้สิ่งที่เราควรจะร่วมกันตั้งคำถามต่อไปหลังจากกระแส “รัดเกล้ายอดของ LISA” คือเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกระแสในครั้งนี้ การทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมของเราเอง ด้วยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (อย่างจริงจัง) ตอบคำถาม สื่อสารและทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับโลกทัศน์ที่หมุนไปตามกระแสของโลกอย่างเท่าทัน และที่สุดคือกลายเป็นผู้นำในการส่งออก “วัฒนธรรม” ของเราเองในฐานะสินค้าส่งออกที่เป็นจุดแข็งของชาติบ้านเมืองที่ไม่ฉาบฉวย เพื่อเปิดพื้นที่แห่ง “ความคิดสร้างสรรค์” ที่แท้จริง และเป็นพื้นที่ให้ “ศิลปิน” ที่มีความสามารถได้เติบโตในบ้านเมืองนี้ (อย่างที่ควรจะเป็น) ควรเป็นเช่นไร

            ขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกัน…

STORY BY :

ปิติรัชต์ จูช่วย

ปิติรัชต์ จูช่วย

นักเดินทางตามรอยประวัติศาสตร์เพราะความขี้เผือก นักกินตามอารมณ์ นักสะสมและนักอ่านหนังสือหายาก (เพราะหาไม่เจอ !)